ถอดรหัสตลาดรถ ‘ปีมะเส็ง’ เตรียมถอยรุ่นใหม่ยังไงดี?
นายพล December 29, 2024 01:40 PM

ถอดรหัสตลาดรถ ‘ปีมะเส็ง’
เตรียมถอยรุ่นใหม่ยังไงดี?

ประวัติศาสตร์ตลาดรถยนต์เมืองไทย คงต้องจารึกสถานการณ์ในปี 2567 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

แม้ว่ารายงานตัวเลขยอดขายยังไม่ครบทั้งปี คงต้องรอตัวเลขช่วงเดือนมกราคม 2568 แต่ตัวเลข 11 เดือน ออกมาสะท้อนภาพการชะลอของตลาดรถยนต์อย่างชัดเจน

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ยอดขายตลาดรวม 42,309 คัน ลดลง 31.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 18,000 คัน ลดลง 26.7% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 24,309 คัน ลดลง 34.4% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขายทั้งหมด 14,435 คัน ลดลง 34.7%

ประเด็นสำคัญ

ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2567 มียอดขาย 42,309 คัน ลดลง 31.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มตลาดรถยนต์นั่งชะลอตัวที่ 26.7% ด้วยยอดขาย 18,000 คัน ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวเช่นกันที่ 34.4% ด้วยยอดขาย 24,309 คัน และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ทำยอดขายได้ 14,435 คันลดลง 34.7%

ในส่วนของตลาดรวมรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (xEV) ทั้งไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อย่างเดียว (BEV) หรือที่เรียกกันว่า อีวี มียอดขายรวมทั้งหมด 14,988 คัน คิดเป็นสัดส่วน 35% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

แบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ HEV 8,373 คัน คิดเป็นสัดส่วน 56% ของตลาด xEV ทั้งหมดเติบโตลดลง 20% และยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 5,870 คัน คิดเป็นสัดส่วน 39% จากยอดขายในกลุ่ม xEV ทั้งหมด ลดลง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2567

1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 42,309 คัน ลดลง 31.3% อันดับ 1 โตโยต้า 17,107 คัน ลดลง 21.2% ส่วนแบ่งตลาด 40.4% อันดับ 2 อีซูซุ 6,068 คัน ลดลง 41.7% ส่วนแบ่งตลาด 14.3% อันดับ 3 ฮอนด้า 4,874 คัน ลดลง 33.5% ส่วนแบ่งตลาด 11.5%

2.ตลาดรถยนต์นั่ง 18,000 คัน ลดลง 26.7% 1.โตโยต้า 5,751 คัน ลดลง 23.4% ส่วนแบ่งตลาด 32% 2.ฮอนด้า 3,829 คัน ลดลง 2.5% ส่วนแบ่งตลาด 21.3% 3.มิตซูบิชิ 1,461 คัน เพิ่มขึ้น 67.5% ส่วนแบ่งตลาด 8.1%

3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 24,309 คัน ลดลง 34.4% 1.โตโยต้า 11,356 คัน ลดลง 20% ส่วนแบ่งตลาด 46.7% 2.อีซูซุ 6,068 คัน ลดลง 41.7% ส่วนแบ่งตลาด 25% 3.ฟอร์ด 1,603 คัน ลดลง 31% ส่วนแบ่งตลาด 6.6%

4.ตลาดรถกระบะ (Pure Pick up) ปริมาณการขาย 11,481 คัน ลดลง 35.7% 1.โตโยต้า 5,327 คัน ลดลง 25.2% ส่วนแบ่งตลาด 46.4% 2.อีซูซุ 4,333 คัน ลดลง 45% ส่วนแบ่งตลาด 37.7% 3.ฟอร์ด 963 คัน ลดลง 34.9% ส่วนแบ่งตลาด 8.4%

5.ตลาดรถกระบะดัดแปลง 2,954 คัน 1.โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 1,194 คัน 2.อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ 918 คัน 3.ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 640 คัน 4.มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต 149 คัน 5.นิสสัน เทอร์รา 53 คัน

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) 2567

1.ตลาดรถยนต์รวม 518,659 คัน ลดลง 26.7% 1.โตโยต้า 199,487 คัน ลดลง 17.5% ส่วนแบ่งตลาด 38.5% 2.อีซูซุ 77,429 คัน ลดลง 45.3% ส่วนแบ่งตลาด 14.9% 3.ฮอนด้า 67,322 คัน ลดลง 20.3% ส่วนแบ่งตลาด 13%

2.ตลาดรถยนต์นั่ง 203,421 คัน ลดลง 23.6% 1.โตโยต้า 59,784 คัน ลดลง 35% ส่วนแบ่งตลาด 29.4% 2.ฮอนด้า 41,169 คัน ลดลง 19.7% ส่วนแบ่งตลาด 20.2% 3.มิตซูบิชิ 16,640 คัน เพิ่มขึ้น 16.4% ส่วนแบ่งตลาด 8.2%

3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 315,238 คัน ลดลง 28.5% 1.โตโยต้า 139,703 คัน ลดลง 6.7% ส่วนแบ่งตลาด 44.3% 2.อีซูซุ 77,429 คัน ลดลง 45.3% ส่วนแบ่งตลาด 24.6% 3.ฮอนด้า 26,153 คัน ลดลง 21.3% ส่วนแบ่งตลาด 8.3%

4.ตลาดรถกระบะ (Pure Pick up) ปริมาณการขาย 148,937 คัน ลดลง 39.3% 1.โตโยต้า 71,464 คัน ลดลง 26.9% ส่วนแบ่งตลาด 48% 2.อีซูซุ 56,146 คัน ลดลง 47.9% ส่วนแบ่งตลาด 37.7% 3.ฟอร์ด 11,736 คัน ลดลง 48.2% ส่วนแบ่งตลาด 7.9%

5.ตลาดรถกระบะดัดแปลง 32,349 คัน 1.โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 11,476 คัน 2.อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ 11,121 คัน 3.ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 7,287 คัน 4.มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต 2,038 คัน 5.นิสสัน เทอร์รา 427 คัน

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์เมืองไทยในปีนี้ และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

SCB EIC วิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยผ่านจุดต่ำสุดช่วงครึ่งหลังปี’68 จากนั้นจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาด “อีวี-ไฮบริด” กวาดยอดขาย 30% ของตลาดรวม

น.ส.ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญความท้าทายจากอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง ส่งผลให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่กลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าจะทยอยกลับมาคึกคัก ได้รับอานิสงส์จากการค้าชายแดนและผ่านแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ 5.5 แสนคัน ระยะปานกลางมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และยังไม่สามารถกลับสู่ช่วงก่อนโควิดได้ภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค

ได้แก่ 1.สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 2.กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง 3.พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น และ 4.การแข่งขันด้านราคาทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป

เรายังคงต้องติดตาม Vicious cycle (วงจรอุบาทว์) ในตลาดยานยนต์ไทย อันเกิดจากสถาบันการเงินมีแนวโน้มตรึงความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากกังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือสอง คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาต่อเนื่อง ทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันราคา ยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวดยานยนต์ให้เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น ตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหารถเกินความต้องการ (Overcapacity) ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง

ระยะปานกลาง จำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน แม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งขึ้น

สำหรับตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้ประมาณ 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด ตลาดรถไฮบริดเป็นแรงส่งสำคัญ เพราะผู้บริโภคเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง ราคา 5 แสน-1 ล้านบาท รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ

นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EIC มองว่าปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภคเกิดจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ 2.ปัญหาอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศและตัวเลือกอู่ซ่อมบำรุงรายย่อยยังมีค่อนข้างจำกัด 3.ผลพวงจากสงครามราคารถ BEV ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยปรับลดลง 4.ต้นทุนการถือครองบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง อาทิ เบี้ยประกันและอัตราการเสื่อมมูลค่า

หากพิจารณาพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศไทยจะพบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2568-2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ก็เติบโตสอดรับกับการผลิตรถยนต์เช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการชาวไทย

ทางด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดรถยนต์ไทยกำลังเผชิญภาวะหดตัวอย่างรุนแรง เห็นได้ชัดจากยอดขาย 9 เดือนแรกของปี 2567 มีเพียง 4.4 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง -25% ส่วนใหญ่หดตัวจากยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Car) หายไปกว่า 1.10 แสนคัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของภาคก่อสร้างทำให้ความต้องการใช้รถกระบะและรถบรรทุกได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย

สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล พบว่า หดตัว -13% หรือลดลงไปราว 3.8 หมื่นคัน แม้ผู้บริโภคจะยังให้ความนิยมกับกระแส BEV อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายยังขยายตัวได้ 7% หรือเพิ่มขึ้นราว 3,500-3,600 คัน จากปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถชดเชยกับการหดตัวของกลุ่มรถยนต์นั่งอื่นๆ หดตัวสูงถึง -17% ได้

เมื่อพิจารณาลงลึกเป็นรายพื้นที่ พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่หดตัวทุกภูมิภาค มีข้อสังเกตว่า ยอดจดทะเบียนในส่วนภูมิภาคหดตัวหนักกว่าพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอย่างเห็นได้ชัด

Krungthai COMPASS มองว่ายอดขายรถยนต์ไทยปี 2567-68 อาจอยู่ในระดับต่ำเพียงปีละ 6.0-6.1 แสนคัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2564-66) ที่ 7.9 แสนคัน อยู่เกือบ 25%

สาเหตุหลักยอดขายรถยนต์ติดลบหนักมาจาก 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ บางส่วนกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย 2.ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาหนี้เสีย และคุณภาพของผู้กู้เป็นปัจจัยกระทบโดยตรงต่อยอดจำหน่ายรถยนต์เช่นกัน

ยอดขายรถยนต์หดตัวรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในแง่ของ

1.การทำกำไรของดีลเลอร์รถยนต์อาจมีปัญหาได้ หากรายได้จากการขายรถยนต์ปรับตัวลงรุนแรง มีข้อสังเกตว่า ดีลเลอร์รายใดจำหน่ายเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าดีลเลอร์ของค่ายที่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายอยู่ด้วย สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมในช่วง 9 เดือน 2567 ของ ดีลเลอร์ที่มีรถยนต์ไฮบริดจำหน่ายลดลงอยู่ในกรอบ 16-17% หดตัวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับดีลเลอร์ที่ไม่มีรถยนต์ไฮบริดจำหน่ายอย่างเห็นได้ชัด

2.ระดับการเติบโตของยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่อาจส่งผ่านมายังรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อด้วยเช่นกัน สะท้อนจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อของกลุ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 18.5%

3.ยอดผลิตรถยนต์ เบื้องต้นคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยมีโอกาสอยู่ในระดับ 1.62-1.66 ล้านคัน ในปี 2567-68 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ที่ 1.8 ล้านคัน ถึง 8-10%

ปัจจัยต้องจับตา ได้แก่ ตลาดในประเทศยังซบเซา ท่ามกลางการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า นำเสนอรถ BEV มีคุณภาพสูงในราคาแข่งขันได้

รวมทั้งภาวะสงครามการค้าสหรัฐและอียูจะขึ้นภาษีรถยนต์ BEV จากจีน อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน เป็นประเด็นอาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรง เริ่มเห็นสัญญาณค่ายรถยนต์ในไทยเริ่มปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องสถานการณ์มากขึ้น

อาทิ ค่ายฮอนด้า เตรียมหยุดสายการผลิตรถยนต์ที่โรงงานอยุธยาภายในปี 2568 มีแผนจะรวมกำลังการผลิตไว้ที่โรงงานปราจีนบุรี และยังมีผู้ผลิตรถยนต์อีก 2 ราย มีแผนจะยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานในไทย คือค่ายซูบารุ และซูซูกิ

รวมทั้งข่าวใหญ่ล่าสุด ฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ ที่ประเทศญี่ปุ่น เตรียมร่วมมือกันตั้งบริษัทผลิตรถยนต์รับมือกับการแข่งขันรถไฟฟ้าจากจีน

ส่วนอีกประเด็นสำคัญต้องติดตาม คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปชัดเจน จากผลการสำรวจเรื่อง Global Automotive Consumer Study ของ Deloitte สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนแปลงไปใน 2 มิติ

ได้แก่ 1.ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์ไฮบริดเพิ่มมากเกือบเท่าตัว จาก 10% ในปี 2566 ขึ้นมาแตะ 19% ในปี 2567 สวนทางกับรถยนต์สันดาปภายในลดลง
ต่อเนื่องจาก 36% มาอยู่ที่ 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคยังกังวล หรือข้อจำกัดต่อการใช้งาน BEV อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ HEV มากขึ้น ประกอบกับระยะหลังค่ายรถยนต์ต่างๆ หันมาทำตลาดและเปิดตัวรถยนต์ HEV มากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคไทยมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

และ 2.ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไปมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ปัจจัยผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คือ คุณสมบัติของรถ สมรรถนะ และราคา

มีข้อสังเกตว่าผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับแบรนด์น้อยลง อาจมีส่วนให้รถยนต์แบรนด์ใหม่ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น

จากความเห็นดังกล่าว ทำให้เห็นทิศทางของตลาดรถยนต์เมืองไทยยังคงจะมีรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ออกมาให้เลือกอีกมากมาย

นั่นหมายถึงตลาดรถยนต์ยังเป็นของผู้บริโภค ใครต้องการซื้อรถรุ่นใหม่ ถ้าจำเป็นต้องใช้ จากนี้ไปจะได้เทคโนโลยีทันสมัยกว่าเดิม แถมประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น และมีออกมาให้เห็นอีกมากมายหลายรุ่น สิ่งสำคัญต้องฝ่าด่านไฟแนนซ์ให้ได้ก่อนว่าจะยอมปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ในสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.