3 วันเซ่น 143 ศพ 19 จว.ตายเป็นศูนย์
GH News December 31, 2024 12:08 AM

10 วันอันตราย! วันที่ 3 เซ่นฉลองปีใหม่ ตาย 47 ราย บาดเจ็บ 269 ราย “อยุธยา”แชมป์เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด 35 ครั้ง “ศปถ.”ลุยกวดขันดื่มแล้วขับ คุมเข้มวัดระดับแอลกอฮอล์ ขู่ “เด็กและเยาวชน” กระทำผิดเจอบทลงโทษสูงสุด ด้าน “รัฐบาล” เตือนประกันไม่คุ้มครองชนแล้วเป่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 ธ.ค.67 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2567 เปิดเผยว่า ข้อมูลวันที่ 29 ธ.ค.2567 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" พบเกิดอุบัติเหตุ 280 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 269 คน ผู้เสียชีวิต 47 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วร้อยละ 38.57 ดื่มแล้วขับร้อยละ 23.21ตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ19.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ82.98 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรงร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวงร้อยละ 40.36 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 22.47 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 4 ราย

“สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 872 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 841 คน ผู้เสียชีวิต รวม 143 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 35 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 32 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 7 ราย”

สำหรับข้อมูลสถานการณ์คดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 กรมคุมประพฤติ ระบุว่า ในวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สามของ 10 วันอันตราย ช่วงควบคุมเข้มข้น เทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 5 มกราคม 2568 มีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ เพียงจำนวน 78 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 65 คดีและคดีขับเสพ จำนวน 13 คดี เนื่องจากเป็นวันที่ศาลปิดทำการ โดยยอดสะสมรวม 3 วัน (27-29 ธันวาคม 2567) มีคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติ จำนวน 1,763 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 1,664 คดี (ร้อยละ94.38) ขับเสพ 95 คดี (ร้อยละ5.39) ขับรถประมาท 4 คดี (ร้อยละ0.23) ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากที่สุด กว่า 288 คดี อันดับสองจังหวัดสมุทรปราการ 146 คดี และจังหวัดนนทบุรี 127 คดี

“เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี โดยให้จังหวัดเข้มงวดเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับ ให้ขยายผลสอบสวนดำเนินคดีไปที่ต้นทาง ทั้งผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับผลของการกระทำผิด และหากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย

ด้าน  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน และมีพี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านฉลองปีใหม่จำนวนมาก กำชับทุกหน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยอุบัติเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่ต้องปลอดจากแอลกอฮอล์ ตรวจเข้มเมาแล้วขับ โทรแล้วขับ และการขับขี่รถเร็ว

นายคารม กล่าวว่า สำหรับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่เข้าข่าย “เมาแล้วขับ” เมื่อมีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และเสียค่าปรับเมาแล้วขับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน ส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าอายุน้อยกว่า 20 ปี มีเพียงใบขับขี่ชั่วคราว หรืออยู่ระหว่างพักใบขับขี่จะไม่ถือว่าเมาแล้วขับแต่เป็นการเมาสุราเท่านั้น ส่วนอัตราโทษตามกฎหมายของการเป่าแอลกอฮอล์เกินกำหนดนั้น คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์จะถือว่าเป็นการเมาแล้วขับทันที โทษจะเหมือนกันกับการเมาแล้วขับคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ หากเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุให้ได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 20,000 - 100,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนถาวร หรือหากทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 6 ปี ปรับ 40,000 - 120,000 บาท พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนถาวร  หากทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย ในข้อนี้ถือว่าเป็นโทษที่หนักหนาที่สุด ต้องถูกจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี ค่าปรับเมาแล้วขับ 60,000 - 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตถาวร

“การเมาแล้วขับเป็นการกระทำที่ประมาทอย่างมาก บริษัทประกันภัยต่าง ๆ จะไม่คุ้มครองหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการจ่ายไปที่คู่กรณีแทนและจะไปเพิ่มเบี้ยกับเจ้าของรถที่มีชื่อในกรมธรรม์แทน การเมาแล้วขับนับได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้อื่น และมีโทษตามกฎหมายที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ หากจำเป็นต้องขับรถกลับจริง ๆ อาจจะต้องใช้บริการคนขับตามแอปพลิเคชัน ให้คนที่มีสติมาขับแทนหรือพักผ่อนให้สร่างเมาเสียก่อนจะดีกว่า การป้องกันปัญหาด้วยการไม่ดื่มก่อนขับรถคือสิ่งที่ดีที่สุด เพียงเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือเรียกรถแท็กซี่ เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้” นายคารม กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.