หนุ่มบุรีรัมย์ ร่าย ‘บารายบุราณ’ ชนะเลิศเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด รอง 1 รอง 2 โยงการเมืองแซ่บ ความเชื่อเก่า-ใหม่ปะทะ
GH News January 01, 2025 08:00 AM

สืบเนื่อง เครือมติชนได้จัดการประกวดโครงการ ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ทั้งผลงานประเภทเรื่องสั้น บทกวี และการ์ตูนสะท้อนสังคม 2024 โดยชิงเงินรางวัลรวมกว่า 4 แสนบาท ซึ่งมีผู้ประกวดส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 894 ผลงาน จากนั้นผลงานดังกล่าวถูกคัดเลือกเหลือเพียง 24 ผลงาน ที่เข้ารอบตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เครือมติชนจัดงานประกาศรางวัล ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง, รางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ และรางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น พร้อมกับอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติ “มติชนเกียรติยศ” ประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล

รางวัลเรื่องสั้น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายประณต พลประสิทธิ์ จากผลงานเรื่องสั้น “บารายบุราณ” รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผู้ใช้นามปากกา “ณพรรธน์” จากเรื่องสั้น “ปฎิทรรศน์จันทรา” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ญาณทีโป” จากเรื่องสั้น “นั่งห้อยขาคร่ำครวญฯ” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท มอบรางวัลโดย นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

นายประณต พลประสิทธิ์ ผู้ชนะเลิศจากผลงานเรื่องสั้น บารายบุราณ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมปราสาทขอม และความเชื่อท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตนนำมาผูกกับเรื่องของแรงงานคนอีสานที่ไปทำงานต่างประเทศ ทั้ง เกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล สุดท้ายเอาแรงไปทิ้ง สิ่งที่ได้กลับมา เหลือแค่วิญญาณ ตัวไม่ได้กลับ นั่นคือชีวิตที่ต้องแลกกับความเสี่ยงอันตราย

“แรงบันดาลใจของเรื่องสั้น บารายบุราณ มาจากที่ผมเป็นคนชอบศึกษาปราสาทขอมอยู่แล้ว ซึ่งปราสาทที่พูดถึงในเรื่องคือประสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งตรงที่จารึกต่างๆ ยังมีความไม่ค่อยชัดเจน อีกทั้งชื่อก็เปรียบเทียบกับปราสาทหินพนมรุ้งที่อยู่สูงกว่า

แต่ประสาทเมืองต่ำมีเอกลักษณ์ ที่เด่นเฉพาะตัว คือเรื่องน้ำ และจุดเด่นตรงนี้ก็นำมาเป็นชื่อเรื่องสั้น บารายบุราณ เป็นแหล่งเก็บน้ำของอารยธรรมขอม และคนในพื้นถิ่นของ บ้านโคกเมืองมีความเชื่อว่า ในวันพระ จะมีเสียงมโหรีออกมา ก็เลยจำลองกับเพลงกันตรึมที่เป็นวัฒนธรรมขอม”

เรื่องสั้นบารายบุราณ ผมเขียนเพื่อนึกถึงเรื่องราวของเพื่อนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เขาเคยอยู่ในหมู่บ้านโคกเมืองซึ่งนิยมไปทำงานต่างประเทศกัน

ผมเป็นคนที่คุยกับเขาคนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตบริเวณใกล้ๆ กับปราสาทเมืองต่ำ ทำให้รู้สึกว่า การเขียนเรื่อง บารายบุราณ ทำให้ผมปลดพันธนาการบางอย่างในหัวใจที่มันเก็บมาหลายปี เป็นการปลดปล่อยตัวเองออกมา

“วันนี้ดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และผมก็มีความผูกพันกับมติชน ครอบครัวก็อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ทุกวันศุกร์พ่อก็จะซื้อกลับมาบ้าน พอได้รับรางวัลจากมติชนสุดสัปดาห์ก็ดีใจมาก” เจ้าของเรื่อง บารายบุราณ ปิดท้าย

ด้าน ผู้ใช้นามปากกา ‘ณพรรธน์’ ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเรื่องสั้น ‘ปฎิทรรศน์จันทรา’ กล่าวว่า ยินดีมากที่ได้รางวัลมติชนสุดสัปดาห์ในครั้งนี้ ที่เห็นคุณค่าของเรื่องสั้นในเรื่องนี้

สำหรับ ปฎิทรรศน์จันทรา จัดเป็นเรื่องสั้นประเภทวิทยาศาสตร์ ไซไฟ (sci-fi) แต่ในขณะเดียวกันก็แทรกเรื่องการเมืองเข้าไปอยู่ด้วย หลักๆ พูดถึงเรื่องเยาวชน การไขว่คว้าอนาคตที่เยาวชนต้องการมาให้ถึง ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องอุปสรรค เรื่องความเชื่อเก่า เป็นการปะทะกันหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ที่ขัดแย้งกันในทุกวันนี้

“หากใครที่ได้อ่านเรื่องนี้ ก็จะมีประเด็นที่แทนภาพอะไรบางอย่าง อีกทั้งยังแอบพูดถึงสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่ ถ้าสามารถเติมเข้าไปได้อีก ก็อยากจะเติมให้ชัดไปเลย เพื่อได้เห็นภาพกว้างมากขึ้น” เจ้าของนามปากกา ณพรรธน์ กล่าว

ปิดท้ายที่ นายศรายุทธ อินทร์ประยูร พนักงานโรงแรม นามปากกา ‘ญาณทีโป’ จากเรื่องสั้น ‘นั่งห้อยขาคร่ำครวญฯ’ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เล่าถึงเด็กอายุ 18 ปี ที่ต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แทนที่เด็กคนนี้จะใช้ชีวิตตามที่ตนเองปรารถนา ต้องมีวิถีชีวิตด้วยความเครียด อยู่ๆ ก็โขกหัวและกัดเล็บมือตัวเอง เพื่อหาหนทางออกให้ตนเอง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.