‘ภูมิธรรม’ ยันทหารไม่คิดปฏิวัติ สั่งเคลียร์ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ‘อิ๊งค์’ ตั้ง กก.เร่งทำ กม.16 ฉบับ
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าตอนเข้ามาทำงานใน กห.ยังมีพื้นฐานความเข้าใจกองทัพไม่ลึกซึ้งเพียงพอ เมื่อเข้าไปแล้วได้เรียนรู้ หัวใจสำคัญคือการทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหา จะได้รู้ว่าแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนปัญหาค้างคาต้องยอมรับว่ายังไม่คลี่คลายไปในทางที่อยากได้ แต่ต้องเริ่มต้น และทำความเข้าใจ ส่วนการเกณฑ์ทหาร ได้เริ่มต้นไปมากแล้ว คิดว่าจะเกิดผลในปี 2568 ตอนนี้เริ่มรับสมัครทหารเกณฑ์ออนไลน์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงที่มีกระแสแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กห.ปฏิกิริยาของทหารเป็นอย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่เป็นห่วง เช่น การห้ามปฏิวัติ ไม่ต้องห้ามหรอก เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดห้ามอยู่แล้วว่าทำไม่ได้ และเขาก็ไม่ได้คิดอยากจะทำ จะทำคงจำเป็นต้องทำ ปัญหาคือต้องช่วยกันรอบด้านไม่ให้มีปฏิวัติ ทหารยังรู้สึกกังวลใจ และไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายทหาร เวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าคนนี้จะเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ ทหารบอกว่าผิดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ นอกจากนี้ ถ้าสามารถโยกย้ายได้ เมื่อรู้ว่าใครจะทำรัฐประหาร ทั้งที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มายืนยัน เกรงว่าจะถูกเอามาเป็นเงื่อนไขกลั่นแกล้งการเมือง จึงขอว่าอย่าทำเลย ให้เป็นการพูดคุยกันมากกว่า
“จากที่พูดคุยกับทหารหลายระดับ เห็นคล้ายกันเรื่องนี้ต้องทบทวน ซึ่งที่ประชุมกลั่นกรองที่ผมเป็นประธาน ให้กลับไปกรองดูว่าถ้าจะรักษาความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย จุดศูนย์กลางอยู่ตรงไหน หรือถ้าเรื่องนี้รับกันไม่ได้ อาจยังไม่มีข้อสรุป” นายภูมิธรรมกล่าว
เมื่อถามว่า มองการแต่งตั้งนายทหารผ่าน ครม.อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นความเห็นที่แตกต่าง ตนพูดไม่ได้ แต่เคยมีกระบวนการแบบนี้มาก่อน และมีเหตุผลรองรับได้ ความเป็นจริงกระบวนการแต่งตั้งกองทัพไม่อยากแทรกแซง สิ่งสำคัญคือการวางระบบ เพื่อให้เกิดความพอดีของฝ่ายนโยบาย และฝ่ายกองทัพให้พอเหมาะ เรื่องนี้ละเอียดอ่อน แต่ทำความเข้าใจกันได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า จุดแข็ง และเป้าหมายของพรรค ภท.นั้น ภท.เอาผลงานเข้าแลกผ่านสโลแกน พูดแล้วทำ สิ่งที่ไม่ได้พูดก็ทำ ไม่ได้ดีแต่พูด เป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอย่างน้อยเป็นเครดิต และความเชื่อถือที่ประชาชนจับต้องได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป้าหมายของพรรค ภท.ยังคงเป็นภาคอีสาน และภาคใต้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่แล้ว เมื่อดูสัดส่วนภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ รวมถึง ภาคอีสาน ไม่ทิ้งห่างกันเท่าไร เราไม่ใช่พรรคท้องถิ่นแล้ว แต่เป็นพรรคที่สามารถมีผู้แทนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
เมื่อถามถึงเป้าหมายตัวเลข ส.ส.ของพรรคสมัยหน้า นายอนุทิน กล่าวว่า อยากได้ ส.ส. 251 เสียงอยู่แล้ว แต่จะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาที่ลงสมัครแล้วพรรค ภท.ไม่ได้ส่งผู้สมัครเป็นพิธี แต่จะได้รับเลือกหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนและพื้นที่ด้วย เท่าที่ตนทำพรรค ภท.หลักๆ มา 2 ครั้งในการเลือกตั้ง เห็นว่าพรรคเติบโตระดับเกือบเท่าตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งใบเดียว หรือสองใบ หากมองด้วยจิตใจที่เป็นธรรมแล้ว การเลือกตั้งในปี 2566 พรรค ภท.โตขึ้นมาก และโตทุกเขต การเลือกตั้งในปี 2570 ก็น่าจะเติบโตกว่านี้
เมื่อถามว่า อนาคตคาดหวังว่าจะเป็นพรรคแกนนำหลักในการเป็นนายกฯ หรือไม่ หรือจะเป็นพรรคตัวแปร นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การที่จะเป็นนักการเมือง เมื่อถึงการเลือกตั้งทุกพรรคต้องเสนอผู้ที่เหมาะสมมาเป็นนายกฯ ของพรรค ซึ่งพรรค ภท.เสนอหัวหน้าพรรคมาโดยตลอด
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรในนามรัฐบาล ว่า หลังปีใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดจัดทำกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล มีตนเป็นประธาน โดยคณะกรรมการได้ลิสต์รายชื่อกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน 16 ฉบับเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งรัดติดตามโดยใช้วิธี fast track คือเร่งรัดเวลากระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ชั้นยกร่าง ชั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชั้นกฤษฎีกา และชั้นวิปรัฐบาล โดยมีตัวอย่างร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่กระบวนการเร่งรัด โดยทั้งหมดจะเร่งรัดให้เข้าพิจารณาในสภาสมัยประชุมนี้
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล่าสุดได้รับการประสานจากประธานรัฐสภาว่าจะใช้อำนาจบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่พรรคประชาชน (ปชน.) เสนอ และประสานขอให้พรรคเพื่อไทย (พท.) และอื่นๆ เสนอด้วยเพื่อจะได้พิจารณาไปพร้อมกัน ซึ่งเรื่องนี้มีความหมายว่าถ้าทำได้สำเร็จจนแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และมี ส.ส.ร.จะนำไปสู่การทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ซึ่งอาจทำให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันก่อนรัฐบาลชุดนี้หมดวาระ โดยพรรค พท.จะนำหารือในที่ประชุมพรรควันที่ 7 มกราคม 2568