วันที่ 1 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเมินถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองปี 2568 สำหรับรัฐบาลได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 เป็นเวลาเกือบครึ่งเทอม เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความเข้มข้นของการเมืองมากกว่าปีแรกๆ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกมาก ส่วนตัวจึงเชื่อว่าปี 2568 การเมืองอาจจะรุนแรงมากกว่าปี 2566 และ 2567
“หากเราได้ร่วมมือกัน โดยเฉพาะรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนที่เดือดร้อนในขณะนี้ได้ ความร้อนแรงก็จะลดลงไป รัฐบาลก็อาจจะอยู่ครบเทอมก็ได้ จึงขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล” ประธานรัฐสภากล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ส่วนตนเองในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภาที่มองสิ่งต่างๆ ก็เห็นว่าเฉพาะนักการเมือง ทั้ง สส. และ สว. ก็มีพัฒนาการไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น การอภิปราย การทำการบ้าน ของสมาชิกรัฐสภาก็เป็นไปด้วยดี มีหลักมีฐาน การประชุมสภาในปี 2567 ที่ผ่านมาก็ไม่เคยล่ม องค์ประชุมครบ เราอยู่ทำงานกันจนดึกดื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ หวังว่าในปี 2568 เฉพาะในด้านนิติบัญญัติ คงจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมือนกับปีที่ผ่านมา มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่กำลังรอให้สมาชิกได้พิจารณาให้จบ รวมทั้งญัตติความเดือดร้อนต่างๆ ก็จำเป็นต้องใช้รัฐสภาในการพิจารณาแก้ไข
"หวังว่าพี่น้องประชาชนจะหวังใช้สภาในการแก้ปัญหาบ้านเมือง มากกว่าที่จะแก้ด้วยวิธีอื่นๆ เพราะวิถีประชาธิปไตยคือการใช้รัฐสภาเป็นที่ถกเถียงแก้ปัญหาของบ้านเมือง ผมก็หวังอย่างนั้น และสภาเราก็พร้อมจะทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามการเมืองที่ร้อนแรงขึ้น จะมีผลให้การทำงานของสภาต้องสะดุดลงหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สภาก็คงไม่มีอะไร เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะมีร้อนแรงหน่อยก็เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากฝ่ายค้านเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องอภิปรายรัฐบาล ก็สามารถยื่นอภิปรายได้ ทั้งแบบไม่ลงมติ หรือแบบลงมติไม่ไว้วางใจ ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีเกือบทุกสมัยการประชุม สมัยที่แล้วไม่มี แต่เชื่อว่าสมัยนี้ฝ่ายค้านก็เตรียมพร้อมจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องพร้อมตอบ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหาอะไรบ้าง การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นบทบาททางการเมืองที่พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นการทำงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าเป็นอย่างไร