อลงกรณ์ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง การเมืองปี 68 ยังเปราะบาง-วิกฤตพร้อมปะทุ ยันชัดสัญญาณบอกเหตุ
GH News January 01, 2025 07:00 PM

อลงกรณ์ ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง การเมืองปี 68 ยังเปราะบาง เหมือนไฟสุมขอน พร้อมปะทุ ยกบทเรียนก่อยรปห. 2 ครั้งล่าสุด แนะรบ.มุ่งถอนฟืน ยันชัดสัญญาณบอกเหตุ  

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กมองสถานการณ์การเมืองในปี 2568 โดยระบุว่า การเมืองไทยปี 2568 ผันผวนและเปราะบาง : ไฟสุมขอน 3 ปัจจัยเสี่ยง 4 ปัจจัยส่งสู่วิกฤติครั้งใหม่“

“…เรากำลังก้าวข้ามปี 2567 สู่ปี 2568 ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสและความหวังเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ แต่ในมุมมองของผมสถานการณ์ปีใหม่ผันผวน-เปราะบางกังวลว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่เสมือนไฟสุมขอนที่จะปะทุในปีหน้าอาจนำประเทศกลับสู่วิกฤติซ้ำเติมประเทศอีกครั้งหนึ่ง

”3 ปัจจัยเสี่ยง” ได้แก่
1.ปัญหาเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 (MOU44)
2.ปัญหาที่ดินเขากระโดง
3.ปัญหานักโทษทิพย์ ชั้น 14

โดยเฉพาะกรณีเอ็มโอยู 44 เป็นประเด็นปัญหาในวงกว้างบ่มความรู้สึกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งพร้อมจะชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในต้นปีหน้าหากรัฐบาลยังเดินหน้าเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมี ”4 ปัจจัยส่ง“ เสมือนฟืนที่สุมในกองไฟเพิ่มอุณหภูมิของปัญหาให้ร้อนแรงมากขึ้นยิ่งขึ้นได้แก่

1.ประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง
2.ประเด็นการนิรโทษกรรม
3.ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4.ปัญหาการกลับประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“สถานการณ์การเมืองปลายปี2567ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการกลับมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ในปี2568 ซึ่งความขัดแย้งครั้งใหม่ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรงหากเกิดบานปลายจะกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมทั้งความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

รัฐบาลมีหน้าที่ถอนฟืนไม่ใช่ใส่ฟืนในกองไฟอย่าทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนในอดีต ปัจจุบันรัฐบาลมีเสียงในสภามากถึง 322 เสียงจาก 493 เสียงย่อมมีความมั่นคง แต่อย่าประมาท เพราะบทเรียนปี 2549 และปี 2557 รัฐบาลมีเสียงข้างมากเด็ดขาดแต่ก็ไปไม่รอด

นายอลงกรณ์ ยังเสนอแนะด้วยว่า “หนทางคลี่คลายปัญหามิให้บานปลายอยู่ที่ตัวรัฐบาลเองโดยต้องยืนตรงยึดหลักมั่นในหลักนิติรัฐ ธรรมาภิบาลและสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นอาจแพ้ภัยตัวเอง”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.