เกษตรกรกระอัก สาหร่ายพวงองุ่นผลผลิตลดลง ปัญหาภาวะโลกร้อน ชาวประมงบ่นอุบอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น สัตว์น้ำน้อยลง “ดร.ธรณ์” ชี้ระบบนิเวศป่วนปะการังฟอกขาว แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติลดลง ถ้าอากาศยังแปรปรวน 24จว.ชายทะเลไทยเจอภัยพิบัติรุนแรง
6 พ.ย. 67 – นายกสิธาดา คล้อยดี ประธานกลุ่มรักหาดเจ้า ต.หาดเจ้าสำราญ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน-โลกรวนว่า ชาวประมงพื้นบ้านในอ.บ้านแหลมก็เจอปัญหานี้ โดยเมื่อ2 ปีกว่าที่ผ่านมาจำนวนปลาทูที่เคยมีอยู่หายไปจากทะเลบ้านแหลมเลย คิดว่าน่าจะเกิดจากปัญหาโลกร้อน และด้วยจำนวนสัตว์น้ำประเภทต่างๆที่ลดจำนวนลงมาก รวมทั้งปัญหาน้ำมันแพง ทำให้ชาวประมง80 เปอร์เซ็นต์เลิกอาชีพนี้ หันไปทำอาชีพอื่น อย่างเช่น รับจ้างทั่วไปหรือไปทำงานด้านการท่องเที่ยว
นายกสิธาดา กล่าวว่า กลุ่มรักหาดเจ้ามีสมาชิก 20 กว่าคน คิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น จึงรวมตัวกันทำซั้งหรือบ้านปลา เพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยในแต่ละปีของได้งบประมาณมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเช่นปตท.สผ. นอกจากนี้ก็รวมตัวกันในตอนเช้าทุกวันพุธในการเก็บขยะที่อยู่ตามคลองต่างๆ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมไปสู่ทะเล เพราะในช่วงกันยายนเป็นต้นไปจะมีนักท่องเที่ยวลงเรือไปชมวาฬบรูด้า จึงไม่อยากให้มีขยะทะเลมาเกยหน้าหาดเจ้าราญ
ที่ผ่านมาเก็บขยะกันมาประมาณ 7 ปีแล้ว สํานักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 จ.เพชรบุรี ก็ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเก็บและชั่งน้ำหนัก ได้ประมาณกว่า 10 ตันแล้ว พร้อมกันนั้นได้นำลูกถ้วยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาทำเป็นปะการังเทียม เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ
“ชาวบ้านแหลมต้องขอบคุณทางUNDPที่เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องโลกร้อน และมาสอบถามว่าได้รับผลกระทบอย่างไร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา อย่างเช่นจะนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปเพื่อทำให้มีรายได้ขึ้นมาบ้าง โดยได้มาช่วยประสานงานติดต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาคนในชุมชนให้ความสำคัญและตระหนักกับเรื่องโลกร้อนมากพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงได้ช่วยกันรับมือตลอดมาด้วยการทำกิจกรรมทำซั้งปลาและเก็บขยะทะเล”
นายสุเทพ มานิช ประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านพะเนิน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนคือ ช่วง 2 ปี มานี้อุณหภูมิน้ำทะลสูงขึ้น ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเจอปัญหาอย่างเช่นเพาะปูม้ายากขึ้นเพาะได้จำนวนน้อยลง จากที่เคยได้หลักหลายพันตัวก็ได้หลักร้อย อาจต้องแก้ไขด้วยการนำสแลนมาคุม อีกอย่างคือระดับน้ำทะเลขึ้นสูงกว่าปกติ รวมไปถึงการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วย ซึ่ง อ.บ้านแหลมเกษตรกรจำนวนไม่น้อยทำบ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การที่อากาศแปรปรวนเดี๋ยวร้อนบ้างฝนบ้างเย็นบ้าง ทำให้สาหร่ายเน่าเสียและตาย ผลผลิตลดลงประมาณ 20 % จึงต้องแก้ด้วยการปรับน้ำกวนน้ำเพื่อให้อุณหภูมิเท่ากัน
“ชาวประมงก็ต้องปรับตัวและแก้ปัญหาที่เจอจากภาวะโลกร้อน แต่บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ ถึงที่สุดแล้วอาจต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย”นายสุเทพกล่าว
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบต่อโลกร้อนเกิดขึ้นกับชาวประมงในหลายรูปแบบ อย่างแรกสุดคืออุณหภูมิน้ําทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ยกตัวอย่างเช่นปะการังฟอกขาว แหล่งหญ้าทะเลต่างๆเสื่อมโทรม จํานวนสัตว์น้ำก็ลดน้อยลงส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวประมงที่ทํามาหากินโดยพึ่งพิงสัตว์น้ำเหล่านี้ และภาวะโลกร้อนทําให้น้ำจืดไหลลงทะเลจํานวนมากก็ส่งผลกระทบเรียกกันว่าน้ำเบียด ความเค็มลดลงอย่างรวดเร็วอาจเกิดปลาตายจำนวนมากเกยตื้นตามชายหาด เมื่อโลกร้อนเกิดขึ้นสภาพแวดล้อมทางทะเลมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทําให้เกิดผลกระทบทั้งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำคือระบบนิเวศต่างๆ และส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำโดยตรง
“การปรับตัวด้วยการรับมือทําได้ค่อนข้างยาก ด้วยเหตุผลว่าโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ความแปรปรวนหนักขึ้นเรื่อยๆเพราะฉะนั้นสิ่งที่ทําได้อย่างแรกสุด คือ ต้องมีอาชีพเสริมเช่นให้ชาวประมงเช่นเลี้ยงปลาในกระชัง เน้นเลี้ยงสัตว์น้ำราคาสูง ยกตัวอย่างที่จ.กระบี่ คณะประมงฯ ม.เกษตรฯ ส่งเสริมการเลี้ยงปลิงทะเล ซึ่งมีรายได้สูง ในภาพรวมผมคิดว่าทางออกคงต้องเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีรายได้สูงเข้ามาช่วยเสริมด้วย เพียงแต่ต้องรอบคอบ กรณีถ้าเกิดหนักหนาสาหัสจริงๆคงต้องเปลี่ยนอาชีพ”
ทางด้านรศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน-โลกรวน-โลกเดือด ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ปะการังฟอกขาว เรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เรื่องของความแปรปรวนของคลื่นลมต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะมากขึ้น ภาคการประมงมีปัญหาอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกการเปลี่ยนแปลงของคลื่นลมต่างๆ มีผลกระทบต่อการทำประมง อันที่สองเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อปะการังฟอกขาว ขณะที่แนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำหลายชนิด
ในส่วนของชาวประมงพื้นบ้านปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือคุณภาพของน้ำทะเลมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าแพลงค์ตอนบลูม ทำให้ทรัพยากรในทะเลตายปัญหาอันที่สองทรัพยากรสัตว์น้ำที่เคยจับได้บางชนิดหายไป ประเด็นนี้มีความซับซ้อน บางส่วนอาจมาจากปัญหาเรื่องโลกร้อน บางส่วนมาจากปัญหามลพิษ มาจากกิจกรรมของมนุษย์ หรือบางส่วนอาจจะมาจากหลายปัญหารวมกัน แต่สุดท้ายส่งผลทําให้ทรัพยากรประมง ความมั่นคงของการจับสัตว์น้ำ อาจจะมีปัญหาในอนาคต ถ้าไม่วางแผนในเรื่องของการจัดการประมงที่ดี
“วันนี้ในฐานะของประชากรโลก สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนต้องช่วยกันคือการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน พยายามใช้พลังงานให้น้อยลง ลดกิจกรรมที่จะปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้น้อยลง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ขณะเดียวกันในส่วนของชาวประมง ต้องไปดูในเรื่องการจับสัตว์น้ำในขนาดที่เหมาะสม ไม่จับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กจนเกินไป และไม่จับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ อันนี้เป็นวินัยที่ต้องช่วยกัน ต้องมองว่านี่คือทรัพย์สมบัติของสาธารณะเป็นของธรรมชาติที่ต้องใช้ร่วมกัน และที่สําคัญจะส่งผลในระยะยาวต่อชาวประมงเอง ในอนาคตถ้าตัวสัตว์น้ำไม่มีความยั่งยืน ไม่มีประชากรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณที่จับได้น้อยลงด้วย”
ทั้งนี้ข้อมูลจากโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย UNDP รายงานว่า ภาวะโลกรวนส่งผลต่อมหาสมุทรและชายฝั่ง โดยผู้ที่ได้รับกระทบคือคนในภาคประมง เลี้ยงสัตว์น้ำ-พืชน้ำ 60 ล้านคน คนในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 680 ล้านคน และคนในมหานครติดชายฝั่ง 2 พันล้านคน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ1 ในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากเป็น1 ในแนวชายฝั่งที่ยาวที่สุดในโลก (234000 กิโลเมตร) โดย 77 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง อีกทั้งมหานครขนาดใหญ่จำนวนมากอยู๋ริมชายฝั่ง
สำหรับประเทศไทยมี 24 จังหวัดชายทะเล แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ฝั่งอ่าวไทย 18 จังหวัด ซึ่งถ้าภูมิอากาศยังรวนต่อ จังหวัดชายทะเลไทยจะเจอภัยพิบัติรุนแรงมากมายเช่น หน้าฝนแปรปรวน (ตกน้อย-หนัก-ถี่—ขาดช่วงกว่าปกติ) น้ำทะเลสูงขึ้น อุ่นขึ้น ค่ากรดของทะเลเพิ่มขึ้น สภาพอากาศสุดขั้ว และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
อย่างไรก็ตามตอนนี้มี 4 จังหวัดริมฝั่งอ่าวไทยรวมตัวกันสู้ภาวะโลกรวน โดยจ.ระยอง เพชรบุรี สุราษฎร์ธานีและสงขลา เข้าร่วมโครงการ”การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทอากาศเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย”