เมื่อวันที่ 5 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมา โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง รวมทั้งหมด 27 แห่ง
ล่าสุด ปริมาณน้ำเก็บกักภาพรวมเหลืออยู่ที่ 585.78 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 47.98 % ของความจุเก็บกักทั้งหมด และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 522.97 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45.16 % เท่านั้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และถือเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ คือ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำคงเหลืออยู่ในขั้น น้ำน้อยวิกฤติ โดยมีปริมาณน้ำคงเหลือแค่ 92.59 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.44 % ของความจุทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำใช้การได้แค่ 69.87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.95 % เท่านั้น
นายกิตติธัช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่ดูแล ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ รวมทั้ง บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดช่วงฤดูแล้ง จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งต้องยืดระยะเวลาการใช้น้ำให้เพียงพอไปอีกกว่า 3 เดือนเศษ โดยสงวนน้ำไว้ผลิตประปาใช้อุปโภค-บริโภค มาเป็นอันดับแรก และต้องบริหารไว้ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ทั้งรักษาระบบนิเวศลำน้ำ เพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ
ตอนนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำในภาพรวมยังเพียงพอ ไม่มีปัญหา แต่หลังจากวันที่ 30 เมษายน 2568 หมดฤดูแล้งไปแล้ว ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะมีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนมากน้อยแค่ไหน ต้องมาประเมินสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำกันใหม่อีกที
ทั้งนี้ ช่วงต้นฤดูฝน 3 เดือนแรก คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2568 ทางชลประทานฯ ได้วางแผนสำรองน้ำไว้ส่งจ่ายในกิจกรรมหลัก ๆ ไว้แล้ว ยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำไว้ผลิตประปาอุปโภค-บริโภคในช่วง 3 เดือนต้นฤดูฝนได้เพียงพอ และคาดว่าในช่วงดังกล่าว น่าจะมีฝนตกลงมาช่วยเติมน้ำแล้ว