ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เศรษฐกิจไทย” อาศัยรายได้จากต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อนในภาพรวมมาอย่างยาวนาน ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมาระหว่างปี 2563-2564 เศรษฐกิจไทยชัตดาวน์หนัก โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติและธุรกิจทั้งระบบอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว จึงเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เห็นการปิดตัวของธุรกิจน้อยใหญ่ ทั้งชั่วคราวและถาวร
⦁ปั้นรายได้ในประเทศดันศก.
ดังนั้นทางออกเพื่อสร้างความยั่งยืน จึงเป็นการหันมาพึ่งพาการสร้างรายได้หมุนเวียนผ่านการบริโภคภายในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำง่ายนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก หรือประเทศในภูมิภาคเดียวกัน การดันเศรษฐกิจให้เติบโตผ่านเม็ดเงินในประเทศอาจไม่เพียงพอ ต้องมองหา “เครื่องยนต์ใหม่ๆ” มาเป็นกำลังเสริม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน หากต้องเกิดเหตุซ้ำรอยวิกฤตเดิมเหมือนที่ผ่านมา
หนึ่งใน “เครื่องมือ” ที่ทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์แนะนำ คือ การพัฒนา “เศรษฐกิจระดับท้องถิ่น” ให้มีความเข้มแข็ง ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถขยายการเติบโตได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบทั่วถึง จากภาวะปัจจุบันที่มีเพียงกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้ และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
การที่จะทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการผลักดันการพัฒนาของผู้นำแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะ “ผู้นำท้องถิ่น” ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 47 จังหวัดทั่วประเทศ จะเป็นอีกความหวังของภาคธุรกิจในพื้นที่
ทั้งนี้เมื่อมองระยะสั้นว่ากันว่าช่วงเลือกตั้งจะเกิดเงินสะพัดได้ไม่มากก็น้อย สะท้อนจาก “ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำโพลไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 คาดว่า เงินที่มีการใช้ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ในปี 2568 รวม 47 จังหวัด ถ้าหากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 65% คิดเป็นกว่า 18.34 ล้านคนคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเลือกตั้งอยู่ที่กว่า 16,564 ล้านบาท
⦁ดัน10จว.ฮับท่องเที่ยว-ลงทุน
ธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคกลาง เปิดเผยว่า สิ่งที่อยากเห็น คือ ต้องทำให้เมืองต่างจังหวัดเป็นฮับให้ได้ โดยที่รัฐบาลต้องดูว่าแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมในการเป็นฮับเรื่องอะไรบ้าง เพราะเรื่องสำคัญคือ การสร้างเมืองให้มีความเติบโตขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างเศรษฐกิจและสร้างงานได้ดีมากขึ้น เมื่อมีการช่วยในแง่การจ้างงานก็จะทำให้คนไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯหรือเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น
ทางหอการค้ามีการเสนอเรื่องของการยกระดับเศรษฐกิจของเมืองในแต่ละภูมิภาค เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ 10 จังหวัดนำร่องก่อน ขณะนี้ได้ทยอยทำไปแล้ว 4 จังหวัด จึงสามารถนำ 4 จังหวัดนี้มาเป็นโมเดลในการส่งเสริมเศรษฐกิจจังหวัดได้ โดยที่แต่ละจังหวัดจะมีความเหมาะสมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อาทิ เป็นการส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอี
โดยเรื่องของการลงทุนที่ต้องทำให้มีมากขึ้นนั้น ตอนนี้รัฐบาลอาจต้องกลับมามองว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราให้สิทธิเรื่องการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีเครื่องมือผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)แต่สำหรับบริษัทของคนไทยเองที่จะมาลงทุนในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ก็ควรที่จะมีอินเซ็นทีฟให้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการลงทุนในภูมิภาคต้องยอมรับว่า เรื่องตัวเลขของเศรษฐกิจ หรือผลตอบแทนในเชิงการสร้างรายได้อาจไม่สามารถทำได้ดีอย่างรวดเร็วเหมือนในกรุงเทพฯ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มแม่เหล็กในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป
⦁ชู‘ท้องถิ่น’เป็นหัวใจหลัก
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ผู้ที่มีส่วนใกล้ชิดและเป็นกำลังสำคัญ คือ หน่วยงานท้องถิ่น ทั้ง อบจ.และ อบต. ทำให้การเลือกตั้งนายก อบจ.หรือ อบต. มีความสำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดให้เติบโตต่อไป แต่การเลือกตั้งทั้ง 2 ผู้แทนระดับท้องถิ่นของไทยในปัจจุบัน มองว่ายังเป็นการยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่ากระแสของพรรคการเมือง
ซึ่งจริงๆ แล้วท้องถิ่นทั้ง อบจ.หรือ อบต. ถือว่ามีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัด เพราะในจังหวัดเองตัวเทศบาลมีความเล็กเกินไป ตัวที่มีศักยภาพในจังหวัดคือ อบจ. เป็นเรื่องของโครงสร้างหลักในการขับเคลื่อน โดยมองว่า อบจ.จะเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด อย่างในบางจังหวัดที่ อบจ.เข้มแข็งจะสามารถขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดี
ต้องยอมรับว่านายก อบจ.คือคนพื้นที่ ในการเลือกตั้ง 1 ครั้ง มีระยะเวลาในการทำงาน 4 ปี จึงมีความต่อเนื่องในการลงพื้นที่ และการรู้จักกายภาพของแต่ละพื้นที่ตัวเองมากกว่า สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องด้วย เทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอายุการทำงานน้อยกว่า รวมถึง อบจ.มีงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ในการลงทุนหรือสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลาย อบจ. ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเห็นเป็นตัวอย่างแล้ว
การเลือกตั้ง อบจ.และกระแสข่าวการแข่งขันที่มีความรุนแรง จนอาจเป็นส่วนทำให้มีความแตกแยกและเกิดการสูญเสียเหมือนกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น อาจจะทำให้เกิดความกังวลจนไม่มีคนรุ่นใหม่ลงสมัคร โดยปัจจุบันนี้เรายังเห็นการเมืองท้องถิ่นที่ยังมีการเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพล ถือเป็นอุปสรรคให้คนที่ต้องการเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งไม่อยากเข้ามา เพราะเปลืองตัว
สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือการทำประชาพิจารณ์ต่างๆ นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ พื้นที่นั้นจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาช่วยทำงานได้จริง จึงอยากแนะนำให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่แม้อาจเป็นเรื่องของระยะกลาง แต่หากไม่เริ่มทำจะไม่มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้น เราจะอยู่ในวงจรพวกนี้ตลอดไปที่เป็นการลงทุนในเรื่องของการเมืองก่อนจะกลับมาถอนทุนในระยะถัดไปหลังได้ตำแหน่ง
⦁บูมท่องเที่ยว‘เมืองรอง’ยั่งยืน
ขณะที่ วิโรจน์ ชายา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา อบจ.แม้จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่โดยตรง แต่ภาครัฐเป็นผู้นำ โครงการต่างๆ คิดจากภาครัฐเอง บางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับพื้นที่ หรือมาจากความต้องการของภาคประชาชนต่อการพัฒนาพื้นที่ ทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ทางภาคธุรกิจท่องเที่ยวอยากเห็นกลุ่มคนที่จะเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและเอกชนให้มากขึ้นและโครงการพัฒนาต่างๆ อยากให้เป็นแนวคิดของภาคเอกชนโดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ตรงเป้าและได้ประโยชน์ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด
รวมถึงอยากให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้นแม้ปัจจุบันทาง อบจ.จะมีโครงการที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอยู่หลายด้าน แต่เป็นกิจกรรมที่ยังไม่ค่อยมีผลต่อการท่องเที่ยวมากนัก สิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน คือไม่มีการนำเงินไปใช้จ่ายด้านนอกพื้นที่
ขณะเดียวกันควรมีโครงการที่ดึงเม็ดเงินจากนอกพื้นที่ เข้าพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยที่ผ่านมาส่วนงานท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ.หรือเทศบาล ยังจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสกายวอล์ก หรือลานท่องเที่ยว ถนนคนเดิน หรืออะไรเหล่านี้ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพียงระยะเวลาสั้น
“สิ่งสำคัญที่อยากเห็น คือ อยากให้มีการพัฒนาส่งเสริมให้ยั่งยืน จัดแผนและโครงการผลักดันเชียงรายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักเหมือนภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่เป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ไช่เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเชียงใหม่เท่านั้น ก็หวังว่าชุดบริหารใหม่จะเห็นความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากที่สุด” วิโรจน์กล่าวย้ำ
⦁อสังหาฯ-ค้าปลีกแนะคิดใหม่ทำใหม่
ด้าน พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ดูแล้วการทำงานและการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ของแต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นคงไม่มีความแตกต่างจากเดิมมากนัก ส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องของการซ่อมสร้างโครงข่ายการคมนาคมของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดีอยากให้มีการใช้งบประมาณให้เกิดการพัฒนาและยกระดับท้องถิ่นให้เติบโตมากยิ่งขึ้น แม้อาจจะต้องใช้เวลาก็ตาม เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ สิ่งสำคัญคือต้องหาจุดยืน จุดแข็ง ที่จะนำมาพัฒนาด้วย
เช่นเดียวกับ มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง จังหวัดอุดรธานี มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อไม่ได้เฟื่องฟูหรือคึกคักเหมือนเมื่อก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าจังหวัดท่องเที่ยวจะได้เปรียบมากกว่าจังหวัดที่เป็นเมืองรองและเมืองผ่าน อย่างเช่นจังหวัดภูเก็ตที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาก จากกำลังซื้อของชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยทั้งชั่วคราวและถาวร
“อยากให้ผู้นำท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. ร่วมมือกันพัฒนาจังหวัดให้เศรษฐกิจขยายตัวยิ่งขึ้น อย่าต่างคนต่างทำ อย่างอุดรธานี มีจุดท่องเที่ยวหลายแห่งที่สร้างชื่อ ขณะเดียวกันในปี 2569 จะมีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการโปรโมต หรือการประชาสัมพันธ์ถึงความคืบหน้าของโครงการให้รับทราบ โดยส่วนตัวอยากให้จังหวัดมีการดำเนินการเหมือนกับที่บุรีรัมย์เขาทำจนประสบความสำเร็จ มีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์เติบโต” มิลินทร์กล่าว
พร้อมเสนอแนะว่า ทางผู้นำจังหวัดต้องมีการปรับวิธีการทำงานใหม่ ให้เชิงรุกมากขึ้น ต้องมีการคิดพัฒนาในหลายมิติ อย่างมองแค่มิติเดียวคือการก่อสร้างหรือขยายถนนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์และหากิจกรรมใหม่ๆ ให้ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องมีการทำแผนงานที่ชัดเจนและรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ถึงจะทำให้การพัฒนาหรือยกระดับจังหวัดประสบความสำเร็จได้
เป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจคิด ส่วนจะจุดติดหรือไม่นั้น คงต้องดูกันต่อไป