ชาวบ้านปรับที่นาเตรียมเพาะปลูกพืช พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,500-2,500 ปี คาดเป็นที่ตั้งชุมชนเก่า กรมศิลปากรนำชิ้นส่วนไปพิสูจน์
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 น.ส.ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกันเข้าตรวจพื้นที่ที่ชาวบ้านพบโครงกระดูกมนุษย์ พร้อมเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องประดับ อยู่กลางไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น หลังชาวบ้านไปพบ ขณะขุดเตรียมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา
น.ส.ทิพย์วรรณ เปิดเผยภายหลังตรวจสอบว่า เบื้องต้นพบเป็นโครงกระดูกมนุษย์ ขนาดความยาว 140 เซ็นติเมตร ลักษณะเหยียดตรง หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก คล้ายการฝังศพ สภาพชิ้นส่วนโครงกระดูกส่วนใหญ่เสียหาย เนื่องจากอยู่ในร่องน้ำ จึงทำให้ถูกเซาะกร่อน เหลือเพียงกระดูกที่มีความแข็งแรง อย่างกะโหลกศีรษะและฟันอยู่ครบ คาดอายุประมาณ 2,500-1,500 ปี หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบยังพบชิ้นส่วน เครื่องปั้นดินเผาแตกกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เจ้าหน้าที่จึงทำการเก็บชิ้นส่วนไปตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้จากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ พบเป็นเนินสูง อยู่ใกล้ลำห้วย สันนิษฐานเป็นที่ตั้งชุมชน และแหล่งที่อยู่อาศัยของคนในยุค 2,500-1,500 ปี หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์
และอยู่ไม่ห่างจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ จำนวนมาก อนาคตหากที่นี่จะขุดค้นเพิ่มเติม หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ของคนในพื้นที่ จะต้องมีการปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
ด้านนายอาทิตย์ โคตรโยธี ผู้ที่มาพบเห็นโครงกระดูกมนุษย์ เป็นคนแรก เล่าว่า ขณะกำลังไถเตรียมแปลงเพื่อปลูกมันสำปะหลัง ตนเองได้พบวัตถุบางอย่าง ในจุดที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โสก” ไม่สามารถใช้รถไถพรวนได้ จึงนำจอบมาขุดปรับพื้นที่ และสังเกตุเห็นฟันมนุษย์ 2 ซี่ จึงใช้มือขุดและปัดเศษดินออก และรู้สึกเหมือนมีคนดึงมือให้ขุดต่อ จนพบเป็นกระโหลกศีรษะมนุษย์ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ