หมอคางดำยังระบาดไม่แผ่ว กำจัดได้แค่ 30% ยังเหลืออีกเพียบ หยุดจับเมื่อไหร่จำนวนจะพุ่งขึ้นอีก
วันที่ 23 พฤศจิกายน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา ในฐานะคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ ว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำล่าสุด แม้ในทางข่าวจะเงียบๆไป แต่ในสถานการณ์ความจริงล่าสุดยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะมันกระจายตัวเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และรวดเร็ว พื้นที่ ที่ยังคงล่าปลาหมอคางดำจริงจังคือ จ.สมุทรสาคร ที่มีการออกไปจับ ทั้งเอาไปขายราคาถูก ทำอาหาร ตัวเล็กๆ เอาไปทำปุ๋ย ทำปลาร้า ทำน้ำหมักชีวภาพ รดน้ำต้นไม้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไรที่หยุดทำ ปริมาณก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีก เพราะมันขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วมาก
“ในภาพรวมทั่วประเทศเวลานี้ เราสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้แล้วประมาณ 2 ล้าน กิโลกรัมหรือ ราวๆ 30% อีก 70% ยังเหลืออยู่ ซึ่งต้องพยายามกำจัดต่อไป เราตั้งเป้าคือ ให้เหลือ 0 ตัว คือให้หมดไปเลย คณะกรรมการของบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้ทั่วประเทศ 450 ล้านบาท แต่ได้มาแค่ 10 ล้าน บาท ที่เหลือ ทางกระทรวงเกษตรฯก็ต้องเอาเงินจากส่วนอื่นๆ มาสมทบ เพื่อจัดการเรื่องนี้ให้ได้” ดร.ชวลิต กล่าว
เมื่อถามว่า ในพื้นที่ จ.สงขลา ที่กลัวกันว่า ปลาหมอคางดำจะไประบาดที่นั่น ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดร.ชวลิต กล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบ อาจจะเป็นเพราะ 1.ระหว่างแหล่งน้ำทั่งไปกับทะเลสาบสงขลานั้น มีคันดินกั้นอยู่ ปลาหมอคางดำจึงเข้าไปไม่ได้ และ 2.คาดว่า บางตัวอาจจะเล็ดลอดเข้าไป แต่ทะเลสาบสงขลานั้นมีความหลากหลายของปลามาก เข้าไปแล้ว อาจจะถูกปลาเจ้าถิ่นกินหมด
เมื่อถามอีกว่า เนื้อของปลาหมอคางดำ ที่เคยส่งเสริมให้นำมารับประทานนั้น ตอนนี้ได้รับความนิยมไหม ดร. ชวลิต กล่าวว่า ตนเคยกินแล้ว ไม่อร่อยเท่าปลานิล รสชาติแห้งๆ แต่ก็ไม่ได้แย่มาก พอกินได้ แต่ตัวเล็กๆ กินไม่ได้ เพราะจะมีกระดูกก้างเยอะ ต้องกินตัวใหญ่ๆ เท่านั้น