เดินถูกทาง…แก้ปลาหมอคางดำ
ปิยะ นทีสุดา January 06, 2025 12:01 PM

เดินถูกทาง…แก้ปลาหมอคางดำ

การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเดินมาถูกทาง ซึ่งต้องชื่นชมกรมประมงที่วางมาตรการต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งกำจัดปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำ แล้วปล่อยปลานักล่าอย่าง ปลากะพง และปลาอีกง ลงไปเก็บกวาดลูกปลาหมอคางดำต่อทันที รวมถึงมาตรการนำปลาที่จับได้มาใช้ประโยชน์จนทำให้ภาพรวมของปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างเป็นรูปธรรม

ดังที่ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ปลาหมอคางดำว่า “ดีขึ้นมาก แต่ต้องไม่ประมาท” โดยระบุสถานการณ์ดีขึ้นจากการระดมจับไปขาย ไปทำลาย ไปทำอาหาร และการที่ประชาชนมีความรู้มากขึ้นถึงรูปร่างหน้าตาของปลา รวมทั้งการระวังไม่ให้มันระบาดเข้าไปในบ่อกุ้งบ่อปลา จึงทำให้การควบคุมประชากรเป็นไปอย่างได้ผลมากขึ้น

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว สะท้อนมาจากประมงจังหวัดหลายแห่งที่พูดตรงกันว่าปริมาณปลาหายไปจากแหล่งน้ำจำนวนมากแล้ว เช่น ประมงจังหวัดสมุทรสาครที่ระบุว่า เรืออวนรุนที่เคยจับปลาหมอคางดำได้เที่ยวละ 1-2 ตัน ปัจจุบันจับได้เพียงเที่ยวละ 100-300 กิโลกรัม ประเมินได้ว่าในจังหวัดสมุทรสาคร กำจัดปลาหมอคางดำได้แล้ว 70-80% ของปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำ หรือ ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าจากเดิมพื้นที่นี้มีปริมาณปลาหมอคางดำอยู่ที่ 60 ตัว /100 ตรม. ปัจจุบันเหลือเพียง 25 ตัว/ 100 ตรม.

ส่วนประมงจังหวัดสมุทรสงคราม อธิบายว่าทุกวันนี้ปลาหมอคางดำที่จับได้มีจำนวนลดลง และปลาที่จับได้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง แสดงให้เห็นว่า ปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไปจากแหล่งน้ำ ขณะที่ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยืนยันว่าสถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนระบบนิเวศในสุราษฎร์ธานี ยังมีความสมดุลในระดับที่ดี ยังพบปลาพื้นถิ่นและปลานักล่าอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างดี

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ยังนำปลาหมอคางดำที่จับได้ในอ่าวคุ้งกระเบน จ,จันทบุรี มาผ่าท้องสำรวจสิ่งที่มันกินเข้าไป เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผ่านอาหารที่ปรากฏอยู่ในท้องของปลาหมอคางดำ ซึ่งพบว่าปลาเหล่านี้กินแพลงตอนพืชเป็นอาหาร ยังไม่พบแพลงตอนสัตว์ ตอกย้ำว่าไม่มีการรุกรานสัตว์น้ำชนิดอื่นในแถบนี้ สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของปลาหมอคางดำที่ชอบอยู่ในน้ำนิ่งตามลำคลอง และไม่สามารถเพาะพันธุ์ตัวเองในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีคลื่นลมและปลานักล่าอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง จึงช่วยลดความกังวลเรื่องการแพร่กระจายของปลาในพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าการที่ปลาหมอคางดำแพร่กระจายมาถึงชายฝั่งทะเลได้นั้นเป็นเพราะถูกมนุษย์นำมาทำเป็นปลาเหยื่อ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีการติดตามเฝ้าระวังการแพร่กระจายอย่างใกล้ชิดต่อไป

การทำงานเชิงรุกย่อมพบปัญหาอุปสรรคระหว่างทางบ้างเป็นธรรมดาเช่นการเข้าถึงบ่อร้างในพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งกลายเป็นแหล่งที่เพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำ หรือวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่เปิดน้ำเข้า-ออกจากคลองธรรมชาติที่มีโอกาสทำให้ปลาหมอคางดำออกสู่แหล่งน้ำได้เสมอ ซึ่งก็ต้องเร่งวางมาตรการแก้ปัญหากันไปทีละเปลาะ ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของหลายภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างดี ด้วยเป้าประสงค์เดียวกันเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด และไม่หยุดที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมนำทางไปสู่ความสำเร็จได้แน่นอน

ขณะเดียวกันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.จันทบุรี ที่ได้ใช้แนวทางแก้ปัญหาการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเปิดน้ำเข้าออกบ่อ โดยวิธีเน้นที่ขั้นตอนการพักบ่อ เตรียมบ่อ และการใช้ “กากชา” แช่เพื่อฆ่าปลาหลังล้างบ่อ เพื่อให้มั่นใจสำหรับการลงเลี้ยงใหม่ในครั้งต่อไป ทั้งยังแบ่งปันวิธีนี้ให้เพื่อนร่วมอาชีพ เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการป้องกันและลดความเสี่ยงลง ซึ่งทุกฝ่ายควรส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันแนวทางเลี้ยงสัตว์น้ำเช่นนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และอาจขยายผลสู่การเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิดต่อไป

เห็นทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเช่นนี้ก็ใจฟู เชื่อว่าทุกฝ่ายจะยังคงติดตามเฝ้าระวังอย่างไม่ประมาทต่อไป แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ที่ยังมีกลุ่มคนซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยกำจัดปลาออกจากระบบ แต่กลับพยายามสร้างกระแสป่วนเมืองว่าปลาไม่ได้ลดลงบ้าง พบมากในย่านนั้นย่านนี้บ้าง ซึ่งล้วนตรงข้ามความเป็นจริง บั่นทอนคนทำงานทั้งภาครัฐและเกษตรกรอย่างยิ่ง มองดูแล้วไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อส่วนรวม แต่ดูเหมือนจะมีเป้าประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะมีใจช่วยกำจัดปลาหมอคางดำจริงๆ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.