48 ปีมติชน Trust in Reading ปันความรู้ สู่โอกาสใหม่
GH News January 06, 2025 02:41 PM

วันที่ 9 มกราคม มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 

จากก้าวแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521 มติชนได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนถ่ายทอดข้อมูลข่าว และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมาโดยตลอด

แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภค

แต่สิ่งที่มติชนค้นพบคือ แม้พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารจะปรับเปลี่ยน แต่ความต้องการข้อมูลข่าวสารยังคงเหมือนเดิม

ดังนั้น มติชนทั้งเครือจึงต้องปรับตัวเข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงด้วยการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร

จากสื่อกระดาษไปสู่สื่อกระจก 

จากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อออนไลน์ 

ขณะที่มติชนยังคงยืนยันที่จะผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไป แต่ก็ไม่ล้มที่จะขยายช่องทางการสื่อสารไปยังเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ยูทูบ และอื่นๆ 

กระทั่งมติชนก้าวสู่ปีที่ 48 จึงมีช่องทางการสื่อสารครบถ้วน

ทุกปีเมื่อถึงวันเกิดมติชน 9 มกราคม กิจกรรมที่อยู่ร่วมกับงานเฉลิมฉลองคือการส่งเสริมการอ่าน 

สำหรับปี 2568 มติชนได้จัดโครงการส่งเสริมการอ่านขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Trust in Reading ปันความรู้ สู่โอกาสใหม่

เป้าหมายคือการส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 48 แห่งในปีนี้

นฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ มติชน

ทั้งนี้ นฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการมติชน บอกว่า เมื่อปี 2567 มีโอกาสได้พบ พ...ทวี สอดส่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และทีมงานของกรมราชทัณฑ์ เพราะ มติชน, มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ สนับสนุนโครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว

การพบปะและการสนับสนุนโครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาทำให้ทราบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศต้องการหนังสือและข้อมูลข่าวสารตลอดจนความรู้เป็นอย่างมาก

ณ ขณะนั้น ได้รับข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับระดับการศึกษาของผู้ต้องขังว่า มีผู้ต้องขังที่มีการศึกษาไม่ถึงมาตรฐานตามกฎหมายกำหนดจำนวนมาก

จำนวนผู้ต้องขังที่ไม่มีการศึกษา และมีระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาฟรีนั้นมีมากถึง 77.39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั่วประเทศ

จากจำนวนผู้ต้องขัง 290,089 คน มีผู้ต้องขังที่มีการศึกษาน้อยกว่ามาตรฐาน 224,503 คน

จากจำนวนผู้ต้องขัง 290,089 คน มีผู้กระทำผิดซ้ำ 131,620 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.37 

ในจำนวน 131,620 คน พบว่า ผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น 105,116 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 79.86

จากข้อมูลที่ปรากฏ ทำให้เชื่อว่า ระดับการศึกษามีผลต่อการกระทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระดับการศึกษามีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจตัดสินใจจะรับผู้ต้องขังเข้าทำงานหรือไม่อีกด้วย

ถ้าผู้ต้องขังพ้นคุกแล้วไม่มีงานทำ โอกาสที่จะทำผิดซ้ำอีกก็มีสูง แต่ถ้ามีอาชีพ มีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีหลังจากพ้นโทษ โอกาสจะกระทำผิดซ้ำก็น้อยลง

กรมราชทัณฑ์เองก็เดินหน้าส่งเสริมความรู้ และส่งเสริมอาชีพให้ผู้ต้องขัง พร้อมทั้งหาเครือข่ายสนับสนุน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมติชนมีโอกาส จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มข้อมูลข่าวสารและความรู้ให้แก่ผู้ต้องขัง

กระทั่งกลายเป็นโครงการ Trust in Reading ปันความรู้ สู่โอกาสใหม่

มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน

มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน บอกว่า การศึกษาและการเข้าถึงแหล่งความรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขัง เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศยังคงมีข้อจำกัดในด้านทรัพยากรการเรียนรู้ โดยเฉพาะหนังสือที่หลากหลายและเพียงพอที่จะตอบสนองความสนใจและความต้องการของผู้ต้องขัง 

โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการจัดหาหนังสือที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

ในประเทศไทยมีโครงการส่งเสริมการอ่านในเรือนจำที่ช่วยให้ผู้ต้องขังหลายคนมีโอกาสพัฒนาทักษะและสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ผู้ต้องขังบางเรือนจำใช้เวลาในห้องสมุดเพื่อเรียนรู้วิธีทำเบเกอรี่ผ่านหนังสือ บางคนหันมาอ่านหนังสือพัฒนาตนเองและสามารถเรียนและสอบจนได้รับปริญญา

โครงการนี้ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกชีวิตให้ผู้ต้องขัง 

ช่วยให้ผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษแล้วมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตโดยไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก 

มณฑลยังยกตัวอย่างหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ต้องขัง

1.มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องราวของมัลคอล์ม เอ็กซ์ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกันที่มีชื่อเสียง 

เขาถูกจำคุกในวัยหนุ่มเนื่องจากอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดและการโจรกรรม ขณะอยู่ในเรือนจำเขาค้นพบพลังของการอ่านและการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากการอ่านพจนานุกรมและหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ 

หลังจากพ้นโทษ เขากลายเป็นผู้นำในขบวนการ Nation of Islam และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกัน

2.เจฟฟ์ เฮนเดอร์สัน (Jeff Henderson) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องราวของ เจฟฟ์ เฮนเดอร์สัน ที่เคยเป็นผู้ต้องขังในคดีค้ายาเสพติด

ขณะอยู่ในเรือนจำ เขาเริ่มสนใจการทำอาหารผ่านหนังสือและเรียนรู้การปรุงอาหารด้วยความตั้งใจ 

หลังจากพ้นโทษ เขากลายเป็นเชฟมืออาชีพที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตและแรงบันดาลใจ เช่น “Cooked: From the Streets to the Stove”

3.ชาฮาร์ ซาฮานี (Shahrazad Sahani) ประเทศอิหร่าน 

เป็นเรื่องราวของ ชาฮาร์ ซาฮานี อดีตผู้ต้องขังหญิงที่ใช้เวลาว่างในเรือนจำศึกษาด้านวรรณกรรมและปรัชญา ผ่านการอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับศาสนาและจิตวิทยา เธอกลายเป็นผู้เขียนหนังสือและนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอและผู้คนรอบข้าง

เป็นตัวอย่างของหนังสือที่ช่วยให้ผู้ต้องขังได้คิด แล้วพลิกชีวิตตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้จริงๆ

สำหรับเครือมติชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการอ่านมาโดยตลอด 

กิจกรรมการส่งเสริมการอ่านที่มติชนดำเนินการมีทั้งโครงการระดมทุนซื้อหนังสือเข้าโรงเรียน โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาในเรือนจำ มอบหนังสือให้โรงพยาบาล ส่งหนังสือให้ห้องสมุดชุมชนเพื่อส่งเสริมการอ่าน

เมื่อปี 2565 มติชนจัดทำโครงการชุมชนอุดมปัญญาขึ้น โดยมอบหนังสือให้ทั้งห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล บ้านหนังสือชุมชน รวมทั้งห้องสมุดเรือนจำ 

สำหรับปี 2568 นี้ มติชนร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ตั้งใจช่วยเหลือผู้ต้องขัง จึงจัดโครงการพิเศษ เนื่องในโอกาสมติชนก้าวสู่ปีที่ 48 

เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายรับการสนับสนุนจากสังคม เพื่อจัดหาหนังสือไปมอบให้เรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 48 แห่ง เพื่อปันความรู้ สร้างโอกาสใหม่แก่ผู้ต้องขัง

หวังให้ผู้ต้องขังมีโอกาสได้พลิกชีวิต และกลับคืนสู่สังคมด้วยความรู้ความสามารถ และไม่กระทำผิดซ้ำอีกต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.