นายกฯ อิ๊งค์ ลั่นไม่ปรับครม. ยังคุย พีระพันธุ์ ปกติ พร้อมเมินกระแส นายกฯ หลายคน ชี้ ทักษิณ พูดนำถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศก็จบ ด้าน ไอติม ลั่นพร้อมพูดคุยทุกฝ่ายทำความเข้าใจร่างแก้รธน.ฉบับพรรคประชาชน แนะครม.เสนอร่างประกบ ยกเคสร่างเพื่อไทยปี 63 มีเสียงสว.คสช.สนับหนุน ส่วนฝ่ายค้านโวมีไม้เด็ดเซอร์ไพรส์น็อครัฐบาล เล็งยื่นซักฟอก รบ.ปลาย ก.พ.-ต้นมี.ค. ส่วนทวีบอกชัดยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าเกณฑ์ ขังนอกเรือนจำ เหตุโทษสูงกว่า 4 ปี เผยให้สิทธิคนโดน ม.112 ลั่นไม่หวั่นโดนด่า
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ม.ค.68 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินสายพบปะผู้ใหญ่ในช่วงปีใหม่ว่า ก็ทยอยไปกราบสวัสดีปีใหม่กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เป็นเรื่องปกติที่ทำทุกปี โดยไปพบผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ใช่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯคนเดียว และยังเตรียมนัดหมายผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนรวมถึงอดีตผู้บังคับบัญชา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรีและอดีตนายกฯ ก็พยายามนัดเข้าไปกราบอวยพรปีใหม่
เมื่อถามว่า ได้เข้าไปพบเจอกับนายทักษิณมาแล้วใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไปกราบมาแล้ว ไปเจอมาแล้ว เมื่อถามว่า ได้มีการหารือเรื่องการเมืองอะไรหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือ แต่เป็นการสวัสดีปีใหม่เพียวๆ เมื่อวานกินบะหมี่ไม่ได้กินมาม่า
เมื่อถามว่า นายอนุทินไปคนเดียวหรือนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดไปด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ไปด้วยกัน เมื่อถามว่า นายทักษิณได้ฝากอะไรถึงการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีไม่ได้คุยในเรื่องของวิธีการทำงาน ตอนนี้นายทักษิณมาอยู่ประเทศไทยแล้ว เราก็ตระเวนอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยถือเป็นสารตั้งต้นในการจัดตั้งรัฐบาล ได้มีการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในรอบนี้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สารตั้งต้นในการจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย เราก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์ และนายทักษิณก็ไม่ได้ถามเรื่องพวกนี้เลย เราก็บอกว่าโอเคในการทำงาน นายทักษิณก็บอกว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯก็ชื่นชมที่ทำงานสนับสนุนนายกฯ เป็นอย่างดี เราฟังเราก็ยิ้ม
เมื่อถามว่า นายเนวินกับนายทักษิณพูดคุยกันแฮปปี้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน พยักหน้ารับพร้อมจะกล่าวว่า ก็นั่งกินข้าวกลางวันด้วยกัน แขกตั้งเยอะ เพราะนายทักษิณเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ตนและนายเนวินก็เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณตั้งแต่ปี 46-47 เมื่อถามว่า การันตีความสัมพันธ์ได้ใช่หรือไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่ถูกเฉียบพ้นจากพรรคร่วมรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสังเกตุว่าการทำงานของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในเรื่องของค่าไฟฟ้า จะเป็นหลักประกันไม่ให้ถูกปรับพ้นจากครม. หรือไม่ ว่า ไม่ทราบเรื่องนี้จริงๆ และเคยคุยหลังไมค์กับสื่อมวลชนว่าไม่เคยพูดถึงเรื่องการปรับครม. และอำนาจการปรับครม.น่าจะเป็นของนายกฯ แต่ตัวนายกฯยังไม่ทราบเลย ว่าจะมีการปรับครม.เกิดขึ้น กับนายพีระพันธุ์ ก็คุยกันอยู่ในที่ประชุมครม.ก็เจอกัน ยืนยันไม่มีการปรับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯเคยระบุ ว่ายังไม่มีการปรับครม.แต่จะเรียกรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมาพูดคุยเพื่อประเมินการทำงาน ในรอบ 3 เดือน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การเชิญรัฐมนตรีเข้ามาคุย ที่จริงได้แจ้งทุกท่านตั้งแต่ปี 67 เรื่องนี้รัฐมนตรีไม่ตกใจแน่นอน เพราะเป็นการอัพเดตสถานะว่านโยบายนั้นทำถึงไหนแล้ว เพราะได้กระจายงานให้รองนายกฯแต่ละคน แต่ที่เรียกมาคุยเพราะจะได้ทราบว่าคนที่อยู่หน้างานทำอะไรบ้าง
เมื่อถามกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวบนเวทีปราศรัยจะเร่งแก้เรื่องทุนผูกขาด หากรัฐมนตรียังไม่สามารถทำได้ก็ต้องเรียกมาคุย ถ้าทำไม่ได้ให้เปลี่ยนตัว นายกฯ กล่าวว่า ถ้าฟังสิ่งที่นายทักษิณ พูดเป็นสไตล์การทำงาน ไม่เหมือนกับตน เป็นคนละแบบกัน โดยสไตล์ของตน จะคุยก่อนและพูดตรงๆ และขอย้ำว่า ไม่มีแผนปรับครม. ตอนนี้ยังไม่คิดปรับครม.
เมื่อถามว่า หากจะมีการปรับจะต้องยึดหลักอะไร นายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างดูจากผลงาน เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่นายทักษิณ ออกมาเคลื่อนไหวและพูด เหมือนเป็นการล้ำหน้าก่อน นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจที่ทุกคนเวลาพูดกันว่านายกฯตัวจริงบ้าง หรือที่แปลว่ามีหลายนายกฯ ที่ผ่านมาต่างกันตรงที่ว่าตนเป็นลูก ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับนายทักษิณ ฉะนั้นการที่โตขึ้นมาในบ้านที่ท่านเป็นหัวหน้าครอบครัว สิ่งที่ท่านพูดอะไรถ้านำมาประยุกต์ใช้ได้และ ปรับใช้ในชีวิตคือสิ่งดี และ มองว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งฝ่ายค้าน นักวิชาการ รัฐมนตรี หรือใครก็ตามที่คิดว่าเป็นประโยชน์ควรนำมาใช้ เราจะไม่ฟังคนที่ไม่ชอบเราคงไม่ได้ และคุณพ่อ เคยเป็นนายกฯที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ฉะนั้นการพูดหรืออะไรตนรับฟังอยู่แล้ว แต่หากรู้สึกไม่แฮปปี้ สื่อไม่ต้องลุ้น เพราะตนจะหลังไมค์ไปแน่นอน ให้คิดง่ายๆเหมือนคนในครอบครัวคุยกัน ซึ่งตนก็เป็นอย่างนั้น หากถามว่ารู้สึกอะไรหรือไม่ต้องบอกว่าเป็นสไตล์การพูดของท่าน
ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่นายทักษิณ พูด และรัฐบาลนำมาทำ จนทำให้มองว่ามีนายกฯอีกคน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า นั่นคือการคุยหลังไมค์กัน ส่วนตนกำหนดไว้แล้วว่าจะให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.เท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่นายทักษิณ พูดก่อน ถือว่าเป็นรอบที่ท่านจะพูดและไม่เป็นไร ต้องดูว่าประโยชน์อยู่ที่ใคร อยู่ที่ประเทศหรือไม่หากเกิดขึ้นจริง ถ้าอยู่ที่ประเทศก็จบ เพราะตนไม่ได้กระทบอะไร ไม่รู้สึกว่ามีนายกฯสองคน สามคนหรือต้องเสียใจอะไร
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่มีการพูดถึงกันว่า เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนเสนอเข้าไป ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือการเพิ่มหมวด 15/1 คือการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องที่สองเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาถึงวันนี้เราก็รอดูอยู่ว่าจะมีร่างอื่นเข้ามาประกบหรือไม่ เพราะเห็นว่าอาจจะมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่มีความเห็นต่างในเชิงรายละเอียดอยู่บ้าง ซึ่งโดยร่างที่คิดว่าจะมีการยื่นประกบเข้ามาคือ ร่างของพรรคเพื่อไทย และคาดหวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่ต่างไปจากร่างของพรรคเพื่อไทยเคยยื่นเมื่อปี 67 และร่างประกบที่ตนยังไม่มีเห็นว่าจะมีการสื่อสารออกมา แต่คิดว่าควรจะมีคือร่างของคณะรัฐมนตรี เพราะเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้เคยประกาศต่อรัฐสภา และสัญญากับประชาชน ไม่ใช่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น ในเมื่อเป็นนโยบายเรือธงที่เคยประกาศต่อรัฐสภาและประชาชน เหตุใดครม.จึงไม่ได้ยื่นร่างประกบเข้ามา ฉะนั้นย้ำว่าจะต้องรอดูว่าจะมีการยื่นร่างประกบเข้ามากี่ร่าง ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างของพรรคประชาชน คือการที่เราจะไปแก้มาตรา 256 ที่ไปตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของเสียงสว.ออก และหากย้อนไปในสภาฯชุดที่แล้ว พรรคเพื่อไทยก็เคยยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 ตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของสว.ออกรัฐสภาขณะนี้ก็โหวตเห็นชอบในหลักการ สว.ชุดที่แต่งตั้งโดยคสช.ประมาณ 100 กว่าคนก็โหวตเห็นชอบ เช่นเดียวกับสส.รัฐบาลในขณะนั้น
ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่าร่างที่เคยได้รับการเห็นชอบในปี 63 แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นสว.ชุดใหม่ทำไมเราจึงมองว่าการตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของสว.ออกจึงจะไม่เป็นเหตุเป็นผล ตกลงแล้วสว.ชุดนี้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าชุดที่แล้วหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าว และส่วนจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันไหนนั้นจากที่มีการพูดคุยกับวิป 4 ฝ่ายที่ผ่านมาเราได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นว่า หากร่างเกี่ยวกับส.ส.ร.หรือมาตรา 256 บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเราจะหยิบมาเป็นร่างหลักในการพูดคุยกัน ในวันที่มีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 14-15 มกราคม และคิดว่าในการประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 8 มกราคม ก็น่าจะเห็นตรงกับที่เคยตกลงกันไว้
ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า จะยื่นช่วงเดือน ก.พ. ส่วนการอภิปรายต้องเจรจากับวิปพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อกำหนดวันให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ล็อควันที่จะมาชี้แจง ซึ่งน่าจะอยู่ที่ราวปลายก.พ. หรือต้นมี.ค. หรืออาจจะขยับไปสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค.จะไม่ช้าไปกว่านั้น
เมื่อถามถึงไม้เด็ดในการอภิปรายที่จะน็อครัฐบาลได้ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ทุกครั้งคงจะพอทราบอยู่ว่า ตั้งแต่อนาคตใหม่ ก้าวไกล มาจนถึงพรรคประชาชน จะมีไม้เด็ดที่เราไม่เปิดเผยก่อน บางครั้งก็ไม่ได้เปิดเผยกับคนในพรรคเสียด้วยซ้ำ มีเซอร์ไพรส์บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ ยังไม่เคยมีใครรับรู้มาก่อน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงเช็คความถูกต้องของข้อมูล ถ้าเป็นเรื่องจริงและมั่นใจว่าเป็นข้อมูลจริง ก็จะได้เห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าตนผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาถึง 4 ครั้ง การเป็นเสียงส่วนน้อยกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงจะหวังได้ยากที่การลงมติจะทำให้น็อครัฐมนตรีได้ แต่ก็ไม่แน่เพราะพรรครัฐบาลนั้นง่อนแง่นกันอยู่ หากสมมติมีใครเปลี่ยนข้างขึ้นมาแล้วไปโหวตสวนในญัตติอภิปราย ก็ไม่แน่เหมือนกัน แต่ทุกครั้งการน็อคกลางสภาฯของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะโดยสภาวะไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลเป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ความร้าวฉานของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก แต่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือหวังว่าจะมีการโหวตไปตามเหตุผลและข้อมูล แต่ถ้าไม่ได้สิ่งที่เราหวังจริงๆคือให้ข้อมูลกับประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลที่ทำงานอยู่มีข้อบกพร่องหรือข้อทุจริตใดๆที่ปกปิดเอาไว้บ้าง และทำให้สังคมหันมาสนใจการเมือง และสนใจการใช้อำนาจตรวจสอบอำนาจบริหารของสภาฯ เป็นเรื่องที่สำคัญ
เมื่อถามถึง มีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ที่จะซักฟอกนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ 3-4 เดือน และเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สังคมจับตาว่าพรรคประชาชนจะหยิบยกมาอภิปรายในครั้งนี้ด้วย และอาจถูกดักทางว่าเป็นคนนอกไม่เกี่ยวข้อง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอย้ำอีกรอบว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เพิ่งเข้ามาทำงานเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่เป็นรัฐบาลที่ทำงานมาแล้ว 1 ปีกว่าๆ หน้าตาเหมือนเดิม เปลี่ยนขยับนิดหน่อยแค่เพียงพรรคเดียว ดังนั้น 1 ปีกว่าควรต้องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรม ข้ออ้างที่ว่าเพิ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่กี่เดือน ไม่ใช่เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล ส่วนกรณีของนายทักษิณ คงไม่ใช่เป็นเรื่องของนายทักษิณโดยตรง อาจจะมีเรื่องพฤติกรรมของฝ่ายบริหารที่บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อให้บุคคลบางกลุ่ม ซึ่งคนทั้งประเทศก็คงจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องอะไร
เมื่อถามว่าเปิดเผยได้หรือไม่ว่าจะมีรัฐมนตรีที่ถูกล็อกเป้าอภิปรายเกิน 10 คนหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ แต่น่าจะเกือบครบทุกพรรคร่วมรัฐบาลแน่ๆ แต่จะมีบางพรรคที่เพิ่งเข้าร่วม ยังไม่แน่ใจ ต้องรอดู และย้ำว่าเรื่องชั้น 14 มีแน่นอน
วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจำคุกนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์เตรียมบังคับใช้ในเดือน ม.ค.นี้ ว่า จะมี 4 กลุ่มคนที่จะได้รับการพิจารณา เข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำ ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ได้รับการจำแนก 2.กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย 3.กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 4.กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย โดย 4 กลุ่มนี้