สถานีคิดเลขที่ 12 : 3 วิธีจัดการ ‘ความขัดแย้ง’
สถานีคิดเลขที่ 12 January 06, 2025 02:41 PM

ธงทอง จันทรางศุ – เพิ่งได้รับหนังสือใหม่จากสำนักพิมพ์มติชนมาหนึ่งเล่ม

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ประชุม (ลับ) กับธงทอง” โดย ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักวิชาการที่หลายคนในสังคมน่าจะรู้จักชื่อเสียง-เกียรติคุณกันเป็นอย่างดี

“ประชุม (ลับ) กับธงทอง” ใน “ฉบับปรับปรุงใหม่” โดยผู้เขียนและสำนักพิมพ์มติชนนั้น ถือเป็นการ “พิมพ์ครั้งที่สี่” แล้ว (สามครั้งก่อนหน้านี้ตีพิมพ์ระหว่างปี 2564-65)

เมื่อได้ลองเปิดอ่านดู ก็พบว่านี่เป็นหนังสือ (แนวเขียนง่าย-อ่านสนุก) ที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยแง่มุมและมิติต่างๆ ของการประชุม (ในระบบราชการ) ไว้อย่างน่าสนใจและได้ความรู้เป็นอย่างยิ่ง

บทที่ชอบเป็นพิเศษในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ บทที่ 14 ซึ่งมีหัวข้อว่า “หมุนรากต้นไม้ ให้ดอกผลงาม”

หากให้สรุปง่ายๆ อย่างสั้นกระชับ เนื้อหาในบทดังกล่าวนั้นกล่าวถึง “การบริหารจัดการความขัดแย้ง” ในที่ประชุม ซึ่งอาจารย์ธงทองแบ่งจำแนกออกเป็นสามแนวทาง

แนวทางแรก เป็นหลักการจัดการความขัดแย้งใน “วัฒนธรรมญี่ปุ่น” ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า “เนะมาวาชิ” ซึ่งแปลอย่างตรงตัวเป็นภาษาไทยได้ว่า “การหมุนรากต้นไม้”

อันหมายถึงการขยับรากต้นไม้ไปมาจนได้ตำแหน่งที่สวยงามที่สุด แล้วจึงค่อยลงมือปลูกต้นไม้นั้นลงดิน ก่อนที่มันจะเจริญงอกงาม ให้ดอก ให้ใบ ให้ผลที่ดีที่สุด สมตามความตั้งใจของผู้ปลูกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แนวคิด “เนะมาวาชิ” ในบริบทของการจัดการความขัดแย้งในที่ประชุม จะหมายถึงการพยายามแสวงหาความร่วมมือก่อนการประชุม หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าทุกอย่างมีความลงตัวและสามารถหาข้อยุติที่น่าพึงพอใจได้แล้ว จึงค่อยนำเรื่องที่เคยเป็นข้อขัดแย้งเข้าสู่วาระการประชุมอย่างเป็นทางการต่อไป

ตามทรรศนะของอาจารย์ธงทอง แนวคิดหลักการแบบญี่ปุ่นข้างต้น นั้นมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องการ “ล็อบบี้” ของฝรั่ง ซึ่งไม่ได้มีความหมาย “แง่ลบ” เกี่ยวกับการกินสินบาทคาดสินบน หรือการให้รางวัลพิเศษล่อใจกันอย่างผิดๆ เสมอไป

แต่ในนิยามที่เป็นทางการ “ล็อบบี้” หมายถึง การสร้างความเข้าใจในหมู่คณะกรรมการหรือผู้เข้าร่วมการประชุมแบบนอกรอบ เพื่อผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ และลดบรรยากาศความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าที่อาจเกิดขึ้นในที่ประชุม ก่อนที่กรรมการทั้งหมดจะเข้าสู่ห้องประชุมอย่างเป็นทางการในขั้นตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ดี ตามวัฒนธรรม “ตะวันตก” ความขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องผิดบาป หากเป็นเรื่องปกติของการมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปสู่ผลประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ได้

ดังที่อาจารย์ธงทองได้สรุปไว้เป็นแนวทางการบริหารจัดการความขัดแย้งในที่ประชุมแบบที่สาม คือ “เฮลทีคอนฟลิกต์” ซึ่งหมายถึงการสร้างบรรยากาศของความขัดแย้งในที่ประชุมอย่างสร้างสรรค์ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยใจเป็นกลาง เคารพกันตามมารยาท ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

แนวคิดทั้งหมดเหล่านี้อาจไม่ได้มีประโยชน์ต่อเรื่องการจัดการวงประชุมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการหน่วยงาน-องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริหารจัดการประเทศชาติได้อีกด้วย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.