วันที่ 6 มกราคม เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบหารือกับ นางรุคซานา อัฟซอล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่า ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะกลับมาประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ปากีสถาน (ระดับรัฐมนตรี) หลังจากห่างหายไปกว่า 10 ปี เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและบริบทการค้าปัจจุบัน อาทิ การกลับเข้าสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-ปากีสถาน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และการพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้แก่ อาหาร สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ประมง และการท่องเที่ยว อันจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในระยะยาว โดยไทยยินดีเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 4 ในปี 2568
นายพิชัย กล่าวว่า ปากีสถานเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 240 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก มีประชากรวัยทำงานที่มีกำลังซื้อมากถึง 80 ล้านคน ทั้งนี้ การค้าระหว่างกันมีความเกื้อกูลกันและมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากสินค้าหลายรายการเป็นสินค้าขั้นกลางจากไทยที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของปากีสถานเพื่อรองรับตลาดภายในและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ใยสังเคราะห์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและ ส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่ปากีสถานมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สามารถเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้ เช่น สัตว์น้ำ อัญมณี ถ่านหิน และแร่เหล็ก
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยไทยได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการปากีสถานเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ My Karachi ระหว่างวันที่ 1-3สิงหาคม 2568 ณ เมืองการาจี ขณะที่ปากีสถานได้เชิญผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Pakistan ASEAN Trade Development Conference ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2568 ณ กรุงจาการ์ตา
นายพิชัย กล่าวว่า ไทยและปากีสถานยังยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยปากีสถาน ได้จัดตั้งสภาอำนวยความสะดวกการลงทุนพิเศษ(Special Investment Facilitation Council) เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตรและอาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานหมุนเวียน การทำเหมืองแร่ และท่องเที่ยว ขณะที่ไทยได้เชิญชวนให้ปากีสถานเข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทย โดยไทยมีความพร้อมด้านระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีรองรับการลงทุนอย่างเต็มที่ อาทิ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำ
ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยช่วง 11 เดือนของปี 2567 การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานมีมูลค่า 1,031.76.22 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปปากีสถานมูลค่า 781.36 ล้านเหรียญสหรัฐโดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และยางพารา และการนำเข้าของไทยจากปากีสถานมูลค่า 250.40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป น้ำมันดิบ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 530.97 ล้านเหรียญสหรัฐ