ชัชชาติ รับมอบน้ำแข็งแห้ง 300 ตัน ใช้ปฏิบัติการลดฝุ่น กรมฝนหลวงอธิบายเทคนิค เชื่อสถานการณ์ยิงยาวถึง เม.ย.
เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนายเถลิงศักดิ์ ผาทอง ผู้อำนวยการใหญ่ บริการการเดินอากาศส่วนภูมิภาค บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมรับมอบน้ำแข็งแห้งจำนวน 300 ตัน จาก บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในภารกิจบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการฝนหลวงลดฝุ่น PM 2.5 ได้มีการบินเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกทม.ได้พยายามหาวิธีในการลดฝุ่น จากปฏิบัติการการบินมีการทดสอบอย่างต่อเนื่อง และเก็บข้อมูลที่ผ่านมามีสถานการณ์ดีขึ้น แม้อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาฝุ่นอย่าง 100% แต่สามารถช่วยบรรเทาได้ในบางจุด เพราะการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมกัน เช่น การกำจัดต้นตอฝุ่น การลดการเกิดฝุ่นรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทุกเรื่องหากใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ก็จะทำให้มีวิธีที่หลากหลายและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
“การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำเป็นต้องลดที่ต้นตอ เช่น การเผาในที่โล่ง การปล่อยควันพิษจากรถยนต์และการก่อสร้าง พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเสริมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ” นายชัชชาติกล่าว
ด้านนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่าทางบริษัทได้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการใช้ไฮโดรเจน การหลีกเลี่ยงสารเคมี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมกับกรมฝนหลวงฯ นำน้ำแข็งแห้งไปทำปฏิบัติการฝนเทียมต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดฝุ่นละอองและส่งผลดีต่อคนไทย โดยน้ำแข็งแห้งดังกล่าวกำเนิดมาจาก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จังหวัดระยอง เนื่องจากเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้วจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
สำหรับกระบวนการในการนำน้ำแข็งแห้งสนับสนุนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการ ด้วยการใช้วิธีที่เรียกว่า เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผัน ด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไปได้ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่กรมฝนหลวงฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการบินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยวิทยุการบินจะมีการกำหนดชั้นความสูงและกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพฯ ชั้นในเพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่น โดยน้ำแข็งแห้งที่ได้รับมอบมาในวันนี้จำนวน 300 ตัน จะใช้เฉลี่ยวันละ 10 ตัน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่นจะยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน
ด้านนายเถลิงศักดิ์ ผาทอง ผู้อำนวยการใหญ่ บริการการเดินอากาศส่วนภูมิภาค บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ระดับการบินความสูงที่กรมฝนหลวงได้ขอไว้ตั้งแต่ 3000 ฟุต ถึง 10,000 ฟุต ซึ่งบางพื้นที่ไม่สามารถอนุญาตให้ได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นลงของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้บล็อกพื้นที่รัศมี 10 × 10 ไมล์ หรือประมาณ 20 × 20 กิโลเมตร และตั้งชื่อพื้นที่โดยกำหนดตัวอักษร A,B,C,D และ V คือพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะทำการบินทุกวันในช่วงเช้าตั้งแต่ 10.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น.ใช้เวลาบินประมาณ 20 ถึง 30 นาที ซึ่งบางจุดต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปอย่างปลอดภัย
โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะจำกัดระดับความสูงไม่เกิน 3,000 ฟุต ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้สามารถทำการบินได้ก็ต่อเมื่อมีการประสานงานล่วงหน้า เพื่อให้เครื่องบินจากสนามบินมีการเปลี่ยนเส้นทางบินชั่วคราว หลังจากนั้นสามารถใช้เส้นทางบินได้ตามปกติ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีความร่วมมือกับกรมฝนหลวงฯ ในการทำการบินเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน