นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กางภารกิจปี’68 ปลุกเชื่อมั่นภาคเกษตร
GH News January 07, 2025 09:40 AM

หมายเหตุ – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโครงการที่จะสานต่อหรือลงมือทำในปี 2568

จากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงาน 3 เดือน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่ง “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” โดยทางรัฐบาลได้ทำงานร่วมกันได้ 4 เดือนแล้ว (กันยายน 2567-ปัจจุบัน) ทำงานเข้าขากันแล้ว และขับเคลื่อนไปได้เป็นอย่างดีในทุกภาคส่วน อาจจะมีช่วงแรกๆ ที่จะเป็นช่วงตั้งไข่และต้องทำความเข้าใจกันซึ่งตอนนี้ก็เข้าใจกันอย่างราบรื่น

นโยบายส่วนใหญ่จะสานต่อจาก นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้ พรรคร่วมทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มาจากพรรคและทีมเดียวกัน ฉะนั้นการบริหารงานภายในกระทรวงเกษตรฯที่จะช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรก็จะไปในทิศทางเดียวกัน โดยงบประมาณปี 2569 จะเป็นครั้งแรกที่กระทรวงเกษตรฯจะทำงบแบบบูรณาการ โดยเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ให้หน่วยงานทุกกรมเข้ามาเติมโครงการ แผนงาน และจะนำไปสู่แผนเงินที่จะทำงบ ปกติแต่ละกระทรวงจะมีการมอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านดูแลในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการวางแผนงาน และการวางแผนเงินค่อนข้างแยกกัน แต่ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ เป็นทีมเดียวกัน จะเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง เช่น เราต้องการทำเกษตรมูลค่าสูงให้เป็นรูปธรรม ก็จะขับเคลื่อนไม่ใช่แค่กรมใดกรมหนึ่ง แต่ทุกหน่วยงานทั้ง 22 หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องมาช่วยกัน

โดยพืชเศรษฐกิจถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงที่จะเป็นตลาดนำหลักๆ มี “กาแฟ” ปัจจุบันการผลิตในประเทศไทยไม่เพียงพอ และการบริโภคกาแฟของคนไทยในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ทางเราก็ยังต้องมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ ซึ่งการสนับสนุนตั้งแต่สมัยการบริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ จนมาถึงการบริหารปัจจุบันก็ได้สนับสนุนให้ชาวเกษตรกรในบางพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพืชที่เพาะปลูกให้หันมาปลูกเมล็ดกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ราบสูง ต่อมาการจะเปลี่ยนผลผลิตให้เป็นสินค้าเกษตรตัวชูโรงของประเทศได้ หรือจนกระทั่งส่งออกได้นั้นจะต้องมีทุกๆ กรมมาทำงานร่วมกัน และอีกสินค้าเกษตรที่จะต้องมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมากยิ่งขึ้นคือ “ถั่วเหลือง” นอกจากนี้ ยังมี “โกโก้” ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งพืชสวนที่ไทยทำอยู่แล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ อย่างเช่น “กล้วยหอมทอง” ตอนที่ได้ไปเจรจาการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมานั้นทางญี่ปุ่นมีความสนใจที่ต้องการนำเข้ากล้วยหอมทองจากประเทศไทย แต่ปัญหาคือทางประเทศไทยยังผลิตได้ไม่เต็มโควต้าซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตร ก็มีการส่งเสริมผลักดันให้พี่น้องชาวเกษตรกรไทยหันมาปลูกกล้วยหอมทองมากขึ้น ซึ่งพืชทั้งหมดที่เอ่ยมานี้ทางกระทรวงมีแผนจะทำรูปแบบเกษตรพันธสัญญาคือมีผู้รับซื้อทันที และจะมีการกำหนดราคาที่เกษตรกรจะคุ้มต้นทุนและได้กำไรเพียงพอที่จะมีรายได้เพิ่มและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชาวเกษตรกรเช่นกัน

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพี่น้องชาวเกษตรกร ก็ต้องอาศัยระยะเวลาปรับจูนกัน เนื่องจากชาวเกษตรกรไทยส่วนมากจะอายุมากแล้ว 80% มีอายุเกิน 60 ปีบวกกับการคุ้นเคยกับการเพาะปลูกพืชที่เคยปลูกมาตลอด หรือทำการเกษตรแบบที่เคยทำมาตลอดต่อเนื่อง ฉะนั้นหากจะไปปรับเปลี่ยนอะไรก็ต้องอาศัยระยะเวลา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงพยายามนำโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer (YSF)) เข้ามาในภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร จะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาคการเกษตร

ในปี 2568 สำหรับการบริหารจัดการน้ำ จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่ชลประทานมีเพียง 13% ของพื้นที่เพาะปลูก หมายความว่าพี่น้องชาวเกษตรกรจะต้องรอน้ำในช่วงฤดูฝนสำหรับการเพาะปลูกและบางพื้นที่ก็ฝนตกน้อยมาก ถ้ายังไม่มีอ่างเก็บน้ำ หรือเครื่องไม้เครื่องมือในการกักเก็บน้ำเพียงพอ มันก็ส่งผลในระยะยาว โดยขณะนี้ได้มีการบรรจุแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวในแผนของกรมชลประทานแล้วสำหรับแผนระยะยาวจะเริ่มในปี 2570-2580 ส่วนในแผนระยะสั้นก็จะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะมีทั้งหมด 300 กว่าโครงการทั่วประเทศ สาเหตุที่บางโครงการจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานหรือเริ่มต้นนานนั้น เนื่องจากบางพื้นที่ก็ต้องมีการไปขออนุญาตการใช้พื้นที่หรือต้องมีการขอเวนพื้นที่คืน หรือบางพื้นที่ถ้าไปแตะแล้วก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองทันที แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะผลักดันโครงการการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ในปี 2568 ทางกระทรวงยังคงให้ความสำคัญถึงการแก้ปัญหาหลักๆ ที่ชาวเกษตรกรยังคงพบเจอคือ ปัญหาความยากจน และการขาดที่ทำกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตั้งแต่สมัยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวลานั้น ซึ่งขณะนั้นดิฉันได้ทำงานอยู่ในกระทรวงแรงงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ได้เห็นถึงความเดือดร้อนซึ่งบางพื้นที่เกษตรกรก็ไม่สามารถไปเพาะปลูกทำกินได้เนื่องจากพื้นที่มันทับซ้อนกับที่ดินของภาครัฐ ดังนั้นปัจจุบันเมื่อได้กำกับมาดูแลในส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ก็ต้องจัดการแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรควรได้สิทธิที่จะครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก. ส่วนพวกที่เข้ามาครอบครองที่ดินแบบไม่ถูกกฎหมายหรือมีการซื้อต่อกันมาซึ่งมันก็ไม่ควร จึงต้องมีการยึดคืนที่ดิน และจะต้องมีการดำเนินการปรับพื้นที่ของ ส.ป.ก. ให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรไม่ใช่นำพื้นที่ไปจัดสรรทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตร หรือจะมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุมชน ซึ่งทางรัฐบาลก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ที่ดูแลภาพรวมเรื่องของการจัดที่ดินชุมชน ซึ่งแก้ปัญหาไปทีละจุดและทยอยประกาศพื้นที่ที่เคลียร์ได้แล้วและพร้อมออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ทำกินได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ 2.5 (PM2.5) จริงๆ ดำเนินงานในหลายหน่วยงานและออกแผนบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีเรื่องของการรณรงค์ชาวนาและชาวไร่ให้ยกเลิกเผา โดยที่ดิฉันมอบนโยบายไปนั้นไม่ใช่การไปบังคับชาวนาชาวไร่ว่า ต้องห้ามเผาๆ อย่างเดียวแต่ไม่มีทางออกให้พวกเขา เพราะถ้าพวกเขาไม่เผา ต้นทุนการดำเนินการทางการเกษตรก็จะสูงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงจะต้องมีอะไรที่ไปแนะนำไปช่วยเหลือได้ หรือมีแนวทางอะไรที่ไม่เผาแต่ต้องช่วยลดต้นทุนได้ ถ้าไม่เผาก็อาจจะต้องมีเครื่องจักร หรือเครื่องมือที่จะต้องช่วยได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายตรงนี้ไป และได้ดำเนินการไปให้ความรู้แก่ชาวนาชาวไร่ ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ 2.5 (PM2.5) ไม่ได้เกิดจากแค่การเผาทางการเกษตรอย่างเดียว สาเหตุก็มาจากอย่างอื่นเช่นกัน อาทิ จากท่อไอเสียรถยนต์

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางกระทรวงได้เสริมกำลังช่วยเหลือในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้ คือ การปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งมีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น โดยปัจจุบันจะใช้วิธีการนำตัวฝนหลวงไปเจาะชั้นบรรยากาศ โดยจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ก่อนที่จะลงมือทำ จากประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการในหลายพื้นที่มาถือว่าประสบความสำเร็จและสามารถลดค่าฝุ่นละออง 2.5 (PM2.5) ให้กับพื้นที่เหล่านั้นได้ถึง 50% ซึ่งก็จะดำเนินการต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทางการเกษตรไทยในปี 2568 ต้องเรียนแจ้งก่อนว่า เวลาสภาพัฒน์แจ้งเรื่องจีดีพีทางการเกษตร ส่วนมากจะไปเน้นสิ่งที่ขายได้ของสินค้าเกษตร ซึ่งทางเอกชนและรัฐบาลก็ได้ทำงานร่วมกันโดยเน้นถึงเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งถ้าทำการแปรรูปแล้ว ก็จะกลายเป็นด้านภาคอุตสาหกรรมไม่ได้นับเป็นภาคการเกษตรแต่ถ้านับภาพรวมๆ ทั้งหมด ถือว่าตัวเลขจีดีพีจริงๆ ก็ไม่ได้น้อยเพราะสินค้าแปรรูปทางการเกษตรต้นทางก็มาจากผลผลิตของภาคการเกษตร ดังนั้น หากจะมองว่าภาคการเกษตรเติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูภาพรวมๆ ไม่ใช่ดูเฉพาะการขายผลผลิตทางเกษตรดิบๆ ซึ่งทางกระทรวงก็อยากจะเริ่มผลักดันให้เน้นเรื่องการแปรรูปมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร

ดังนั้น ปี 2568 ก็อยากให้พี่น้องชาวเกษตรกรเชื่อมั่นในภาคการเกษตรของประเทศไทยได้แน่นอน

ปี 2568 นี้ สิ่งที่อยากจะฝากถึงพี่น้องชาวเกษตรกรไทยคือ การรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งในระดับชุมชน รวมถึงในเรื่องของข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพยายามดำเนินต่อเนื่องสำหรับโครงการสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชน โดยผลักดันให้กลุ่มชาวนารวมกลุ่มกันเป็นชุมชนที่มีสมาชิกเพียงพอสำหรับการตั้งศูนย์ข้าวชุมชน และทางกระทรวงเกษตรฯก็จะเข้าไปสนับสนุนในด้านของเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกหลากหลายรูปแบบ โดยใน 1 ปีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ประเทศต้องการต้องอยู่ 1.33 ล้านตัน แต่ปัจจุบันทางกรมการข้าวยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้น ทางกระทรวงตั้งใจที่จะให้ศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยที่ดีให้กับชุมชนใกล้เคียง ถ้าได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี ก็ปลูกได้ในราคาที่ดี และสามารถที่จะมีกำไรและมีชีวิตคุณภาพที่ดีขึ้นได้ จึงอยากจะส่งเสริมให้ชุมชนชาวนา ชาวไร่มีความเข้มแข็งและจะได้เติบโตไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.