คลังชง กฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม เข้าสภา 8 ม.ค.นี้ คาดรีดภาษีได้อีกปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 มกราคมนี้ จะมีการประชุมที่รัฐสภาเพื่ออภิปราย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax ในอัตราที่กำหนด 15% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของ สาหลักที่ 2 (pillar 2) ซึ่งเป็นกติกากลางที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศแล้วเข้าร่วมแล้ว
“การเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มต้นเก็บภาษีนี้ ก็จะได้ประโยชน์ เพราะประเทศหลักที่เป็นผู้ลงทุนได้เริ่มดำเนินการกันหมดแล้ว คือ ในอนาคตบริษัทใดก็ตาม อย่างน้อยมาประกอบธุรกิจในประเทศไทย สุดท้ายต้องกลับประเทศต้นทาง เพื่อไปเสียภาษี แต่การออกกฎหมาย Global Minimum Tax คือ ให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเลือกได้ว่าจะเสียภาษีที่ประเทศต้นทางของเขา หรือจะเลือกเสียภาษีที่ประเทศไทย” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หากเสียภาษีที่ประเทศไทย เราจะสร้างกลไกว่างบประมาณส่วนนี้ที่ได้กลับมา จะต้องกลับคืนไปให้เกิดกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้เลือกเสียภาษีที่ประเทศไทย ประเมินว่า การจัดเก็บภาษีในปี 2568 ซึ่งเป็นปีแรก จะจัดเก็บภาษีได้ 1.2 หมื่นล้านบาท
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเจรจาระหว่างประเทศทุกครั้ง ทุกประเทศเรียกร้องให้ไทยเร่งดำเนินการเรื่อง pillar 2 ให้เรียบร้อย เราจึงได้ดำเนินการให้ทันกรอบเวลา เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นจุดที่จะดึงดูดเมเดเงินลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทย
“เมื่อมีตัวเลือกดังกล่าวขึ้นมาแล้ว บริษัทข้ามชาติก็จะสามารถเลือกได้ และเมื่อเราสร้างแรงจูงใจ เม็ดเงินก็จะกลับเข้ามาที่ประเทศไทย ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้หุ้นร่วง”
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะกระทบกับสิทธิประโยชน์ของ BOI เพราะอนาคตผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ต้องกลับไปเสียภาษีที่ประเทศต้นทางของเขา ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมากขึ้น แต่จะสามารถเลือกได้ว่าจะเสียภาษีในประเทศต้นทาง หรือเสียภาษีที่ประเทศไทย