สำนักสัตว์ป่า ชี้ รอบ 40 ปี ช้างป่าเพิ่มและสร้างความขัดแย้งกับชุมชนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ 8 มกราคม ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ใด้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการสรุป การประเมินสถานภาพประชากรช้างป่าในประเทศไทย ครั้งล่าสุด ในวันที่ 7 มกราคม 2567 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเทศไทยมีการประเมินประชากรของช้างป่ามานับแต่อดีต ทั้งนี้จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎและรวบรวมไว้ในแต่ละช่วงเวลา พบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2520 คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ได้ประเมินประชากรของช้างป่าไว้ประมาณ 2,600 – 4,450 ตัว (Lekagul & McNeely, 1977)
ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ศูนย์ข้อมูลสัตว์ป่ามหาวิทยาลัยมหิดล ประเมินประชากรช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ประมาณ 1,797 ตัว (ศูนย์ข้อมูลสัตว์ป่า, 2532) ภายหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2534 พบว่ามีประชากรช้างป่ากระจายในประเทศไทยประมาณ 1,975 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ราว 47 แห่ง (การประชุมวิชาการป่าไม้, 2536) และในปี พ.ศ. 2543 คาดว่าประเทศไทยน่าจะมีช้างป่าอยู่ประมาณ 2,384 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 63 แห่ง (กฤษฎา, 2543)
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 มีการสำรวจประชากรช้างป่าในประเทศไทยว่ามีอยู่ราว 3,000 -3,500 ตัว กระจายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 68 แห่ง โดยกระจายในอุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 30 แห่ง (Srikrachang, 2003) และในปี พ.ศ. 2562 พบว่างานช้างป่าจำนวน 3,126 – 3,341 ตัว (IUCN Red List,2019; Williams et al, 2020)
และล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 มีการประเมินประชากรช้างป่าอย่างเป็นทางการจากการประชุมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่ามีประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง
ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประชากรช้างป่าในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่าก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกภาคของประเทศไทยเช่นกัน
โดยพื้นที่ที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือพื้นที่ป่าตะวันออก
ทั้งนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่ามีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่าและการขาดแคลนแหล่งอาหารในพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นของช้างป่าราวปีละ 8.2% มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ามากกว่า 257 หมู่บ้าน 52 ตำบล 20 อำเภอ 6 จังหวัด ในภาคตะวันออก