การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ของกองถ่ายต่างประเทศในประเทศไทยนั้น นอกจากสามารถสร้างงานให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แล้วยังช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปสู่สายตาผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
กรมการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ปรับมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) ให้กับกองถ่ายต่างประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป จากเดิม 15-20% เป็น 15-30% ของวงเงินลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยผ่านความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2567
“จาตุรนต์ ภักดีวานิช” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ว่า คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศตัดสินใจเข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ของภูมิภาคต่อไป
โดยมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย สำหรับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ประกอบด้วย 1.เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร (Film Permit) จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
2.การจ้างบริษัทผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ประเภทนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว 3.มีการจ่ายเงินที่มาจากต่างประเทศเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยที่เข้าเงื่อนไขตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
4.ยกเว้นภาพยนตร์โฆษณา ไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้ 5.หากมีการทำ Post-Production จะต้องมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายที่มาจากต่างประเทศ 6.ค่าใช้จ่ายในประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
7.ค่าใช้จ่ายสามารถเริ่มนับตั้งแต่ได้รับ Film Permit ไปจนถึงกระบวนการถ่ายทำ (Production) และกระบวนการหลังการถ่ายทำ Post-Production 8.เอกสารหลักฐานทางการเงินต้องเป็นไปตามระเบียบกรมสรรพากรกำหนด และ 9.การโอนเงินคืนให้บัญชีของคณะถ่ายทำในต่างประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ เกณฑ์ของสิทธิประโยชน์มีดังนี้ 1.ร้อยละ 15 สำหรับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป (สิทธิประโยชน์หลัก+เพิ่มเติมได้ไม่เกิน 25%) 2.ร้อยละ 20 สำหรับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 100-150 ล้านบาท (สิทธิประโยชน์หลัก+เพิ่มเติมได้ไม่เกิน 30%) และ 3.ร้อยละ 25 สำหรับค่าใช้จ่ายมากกว่า 150 ล้านบาทขึ้นไป (สิทธิประโยชน์หลัก+เพิ่มเติมได้ไม่เกิน 30%)
สำหรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนั้น คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถเลือกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ข้อหนึ่งข้อใดหรือมากกว่าหนึ่งข้อได้ ได้แก่ 1.ร้อยละ 5 หากมีการจ้างทีมงานหลักชาวไทย 23 ตำแหน่งงาน
2.ร้อยละ 5 หากมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริม Soft Power และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย โดยคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศต้องยื่นหนังสือนำส่งหลักฐานตามแบบ ICM3 ต่อกรมการท่องเที่ยวภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ภาพยนตร์ได้ออกฉายสู่สาธารณะ แต่ไม่เกินระยะเวลา 3 ปี หลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จสิ้นในประเทศไทย
และ 3.ร้อยละ 3 หากมีการถ่ายทำในจังหวัดเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยมีสัดส่วนจำนวนวันการถ่ายทำในจังหวัดเมืองน่าเที่ยวไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนวันการถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด
โดยจากข้อมูลของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ (TFO Thailand Film Office) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า การเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยของกองถ่ายต่างประเทศในปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวน 491 เรื่อง สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 6,580 ล้านบาท
ทั้งส่วนที่เป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ (MV) จาก 42 ประเทศ/เขตบริหารพิเศษ อาทิ ภาพยนตร์ไดโนเสาร์เรื่อง “Jurassic World Rebirth” นำแสดงโดย Scarlett Johansson, Jonathan Bailey และ Mahershala Ali กำกับภาพยนตร์โดย Gareth Edwards จาก Rogue One : A Star Wars Story ซีรีส์ภาคต่อการันตีรางวัลระดับโลกเรื่อง “The White Lotus Season 3” MV.RockStar ของ “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” ที่ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ภาพยนตร์จีนเรื่อง Wusha 3 “Octopus With Broken Arms” เป็นต้น
โดยประเทศ/เขตบริหารพิเศษที่มีจำนวนภาพยนตร์มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น 66 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายการโทรทัศน์และสารคดี รองลงมาคืออินเดีย 57 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาและมิวสิกวิดีโอ เกาหลี 44 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นโฆษณา รายการโทรทัศน์ และมิวสิกวิดีโอ สหรัฐอเมริกา 40 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์เรื่องยาว และซีรีส์ขนาดใหญ่ และจีน 37 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาและภาพยนตร์เรื่องยาว
ขณะที่ประเทศ/เขตบริหารพิเศษที่มีเงินลงทุนมากที่สุดคือฮ่องกง ใช้งบประมาณกว่า 1,328 ล้านบาท ตามด้วยสหรัฐอเมริกา งบประมาณกว่า 1,026 ล้านบาท สหราชอาณาจักร (UK) งบประมาณกว่า 896 ล้านบาท เยอรมนี งบประมาณกว่า 638 ล้านบาท และอินเดีย งบประมาณกว่า 444 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ถ่ายทำของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศพบว่ากองถ่ายต่างประเทศกระจายไปถ่ายทำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยรวม 64 จังหวัด ทุกภูมิภาค โดยจังหวัดที่มีกองถ่ายต่างประเทศเข้าไปถ่ายทำมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 325 เรื่อง ปทุมธานี 85 เรื่อง ชลบุรี 68 เรื่อง สมุทรปราการ 53 เรื่อง และนนทบุรี 42 เรื่อง
โดยสถานที่ยอดนิยมที่กองถ่ายต่างประเทศเลือกเข้าไปถ่ายทำ อาทิ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ชายหาดพัทยา (ชลบุรี) The Studio Park อำเภอบางบ่อ (สมุทรปราการ) ACTS Studio (ปทุมธานี)
แนวโน้มนี้สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมในการรองรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ของประเทศไทย และความเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี