‘โรม’ เผยหลังเรียกหน่วยงานเข้าแจง ‘กมธ.ความมั่นคงฯ’ ปม ‘เรือประมงไทย-ว้าแดง-คอลเซ็นเตอร์’ มอง ไม่มีความชัดเจนสักเรื่อง จี้ ‘รัฐบาล’ เร่งวางมาตรการในอนาคต
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการประชุม วาระพิจารณา กรณี 4 ลูกเรือประมงไทย, ว้าแดง และปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด ว่า กรณี 4 ลูกเรือประมงไทย ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสุดท้ายแล้ว 4 ลูกเรือประมงไทย ที่ถูกควบคุมตัว สุดท้ายจะได้กลับมาประเทศไทยเมื่อไหร่ เนื่องจากเราเองพยายามพูดคุยว่า รัฐบาลจะมีแนวทางเจรจาอย่างไร แต่ต้องยอมรับตรงๆ ว่า ไม่มีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงอะไรที่จะนำไปสู่การสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายได้
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่า บางคนมีคำถามถึงกรณีลูกเรือไทยที่ถูกตัดสิน โดยทางการเมียนมานั้น เราได้ให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างในด้านกฎหมาย ซึ่งวันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ไม่มี การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายใด ซึ่งเข้าใจว่า ทางการไทยไม่ทราบมาก่อนว่า ในวันที่มีคำพิพากษา จะเป็นวันดังกล่าว ทำให้ ไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไร
ส่วนเรื่องการประท้วง ที่เคยมีการให้ข้อมูลจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ก่อนหน้านี้เราให้ข้อมูลไปแล้วว่า ไม่มีการประท้วงไป จึงได้ถามถึงแนวทางว่า สรุปแล้วจะมีหรือไม่มี เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า มีการกระทำที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างมาก
นายรังสิมันต์ ยกตัวอย่างจากการที่หน่วยงานมาให้ข้อมูลถึงแนวทางมาตรการในอนาคต จะต้องมีการป้องกันอย่างไร โดยเฉพาะ กรณีหากมีเรือประเทศอื่นที่เป็นเรือของพลเรือนล้ำมาเช่นเดียวกันกับกรณีข้างต้น มาตรการของทางการไทยคือ ไม่ยิงเรือพลเรือน แต่วิธีปฏิบัติจารีตระหว่างประเทศเช่นนี้ ทำให้กลายเป็นว่าประเทศอื่นยิงเรือพลเรือนของเราได้ ขณะที่เราไม่มีมาตรการเชิงลึก หรือกดดันใดในกรณีนี้เลย
นายรังสิมันต์ จึงถามไปอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะมีการประท้วงไปยังทางการเมียนมาหรือไม่ และได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีแนวทาง ซึ่งกมธ.ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ควรมีมาตรการเชิงรุก และกระทรวงต่างประเทศควรประท้วงไป เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มีความรุนแรง และมีข้อคิดเห็นอีกหลายอย่างว่า ประเทศไทยมีแต้มต่อ มีไพ่หลายอย่าง ที่จะนำมาใช้ในการต่อรองได้ ก็ควรที่จะใช้ เพื่อให้ 4 คนนี้สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้
นายรังสิมันต์ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ต้องบอกว่ารัฐบาลไทยของเราเสียเหลี่ยมทางการเมืองในเรื่องนี้ การให้สัมภาษณ์จากกระทรวง และการส่งสัญญาณเป็นระยะ ว่าเรื่องนี้ควรจะใจเย็นนั้น เราต้องตั้งต้นว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย สื่อมวลชนมีสิทธิ์ทำข่าว ประชาชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น เรามีสิทธิ์ที่จะเป็นทุกข์เป็นร้อนต่อพลเมืองของเรา การจะให้คนในประเทศห้ามพูด เพราะรัฐบาลเมียนมาต้องการเช่นนั้นเช่นนี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลไทยมีหน้าที่ปกป้องพลเรือนของเรา และยังอยากได้คำตอบ เพราะวันนี้เข้าใจว่า หน่วยงานที่เขาชี้แจงไม่ได้รับอำนาจในการตอบอย่างตรงประเด็นนัก
ขณะที่ กรณีว้าแดง ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นเดียวกันว่า สุดท้ายแล้วจะมีการถอนทัพออกจากประเทศไทยเมื่อไหร่ สิ่งที่เราเห็นและประชาชนกังวล คือเรื่องหมุดโกดังเก็บยาเสพติดในแผนที่ ซึ่งเราพยายามสอบถามว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไร แต่หน่วยงานก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีจริงหรือไม่
นายรังสิมันต์ ชี้ว่า ปัญหานี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้นอีก เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากแม่น้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำปาย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย และยังได้รับรายงานอีกว่า ปกติเมื่อก่อนชาวบ้านสามารถข้ามแม่น้ำได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางว้าไม่อนุญาต หมายความว่าว้ากำลังมีปฏิบัติบางอย่างหรือไม่ จึงเป็นปัญหาความมั่นคงที่ยังตอบไม่ได้ ว่าสุดท้ายจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งยังมีข้อสงสัยว่า แหล่งน้ำนี้อาจจะเป็นแหล่งน้ำในการผลิตยาเสพติดอีกด้วย
สำหรับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คำตอบที่ตนตอบได้คงจะเป็นลักษณะคล้ายเดิม คือไม่มีความชัดเจนว่า จะเอาอย่างไร ได้รับเพียงข้อมูลเพิ่มเติมว่ามี 40 แห่ง จากข้อมูลเดิม 35 แห่ง หมายความว่ามีเพิ่มมา 5 แห่ง หากรวมกันทั้งหมดรอบประเทศของเรา จะมีถึง 75 แห่ง คือ เมียนมา 40 แห่ง สปป.ลาว 5 แห่ง กัมพูชา 30 แห่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มหาศาล ที่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะมีแนวทางในการปราบปราม และแก้ปัญหานี้อย่างไร
ทั้งนี้ ผู้ที่มาตอบคำถาม โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในภาพรวมเราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน หากให้ตนมองในฐานะหน่วยงาน เขาก็พยายามทำเต็มที่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือระดับนโยบาย ว่าตกลงแล้ว รัฐบาลจะมีแนวนโยบายอย่างไร ย้ำว่า หัวต้องขยับก่อน หากรัฐบาลไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ก็จัดการไม่ได้ หากหัวไม่ขยับ ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ขณะที่กองทัพก็ย้ำว่า พร้อมปฏิบัติการ และควรทำภายใต้กรอบที่กระทรวงการต่างประเทศมี หากจะยกระดับการเจรจาต่อรอง ก็ต้องใช้กลไกที่มากกว่ากระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ควรดำเนินการให้เกิดการบูรณาการ ซึ่งตนยังไม่เห็นในจุดนี้
ส่วนที่มีการเปรียบเทียบระหว่างกรณี 4 ลูกเรือประมงไทยกับนักแสดงชาวจีนจนมีข้อเสนอว่า ทางการไทยควรจะติดต่อไปยังศูนย์กลางอำนาจของเมียนมา แต่เราไม่รู้ว่า ความสัมพันธ์ของรัฐบาล และมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ดีเท่ายุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี เชื่อว่าในทุกระดับของกองทัพน่าจะมีการติดต่ออยู่ น.ส.แพทองธารเคยพบมิน อ่อง ลายด้วย วันนี้เรารู้ว่ารัฐบาลเมียนมาต้องการเงิน เพื่อไปรบกับชมกลุ่มน้อย รัฐบาลไทยจึงอำนวยความสะดวก การขึ้นทะเบียนแรงงานจะต้องมีสถานเอกอัครราชทูตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนนี้จะสร้างรายได้ให้รัฐบาลทหารเมียนมากว่า 1 หมื่นล้านบาท กรณีนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยน่าจะมีสายสัมพันธ์ที่ดี เพราะอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลเมียนมา เรามีกลไกหลายอย่างที่จะต่อรอง อยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยจะทำหรือไม่
อย่างไรก็ตาม วันนี้มีข่าวดาราจีนที่หายตัวไปตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2567 ซึ่งดูจะซ้ำรอยกับนายซิงซิง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กรณีของนายซิงซิง มีการขายต่อไปยัง 3 บริษัทที่อยู่ในพื้นที่เมียนมา อีกทั้งยังมีข่าวคุณพ่อท่านหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้กับลูกสาววัย 21 ปี เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเรื่องการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด อย่าไปคิดว่า เป็นเรื่องของประเทศนั้นๆ ให้สถานเอกอัครราชทูตไปติดตาม ติดต่อเอาเอง ประเทศไทยเป็นแค่ทางผ่าน หากคิดแบบนี้ชื่อเสียงของประเทศไทยป่นปี้แน่นอน
เราต้องยอมรับความจริงว่า นักท่องเที่ยวเริ่มรู้สึกว่าการมาประเทศไทยไม่ปลอดภัย หากไม่ปลอดภัยแบบนี้ รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างไร เราจะปล่อยปล่อยไปเรื่อย ๆ ให้การท่องเที่ยวพังแล้วค่อยว่ากัน ตนเองรับไม่ได้ การช่วยนายซิงซิงเป็นเรื่องดี แต่ยังมีอีกหลายคนที่รอคอยความช่วยเหลือ เราคงต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยอมรับว่า คำตอบที่ได้ในการประชุมกมธ. ค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่เรายังไม่ยอมแพ้จะเดินหน้าต่อ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ แสวงหาข้อมูล และแสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนมีสีในประเทศประเทศไทยได้ผลประโยชน์ จากการส่งต่อนายซิงซิง ไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงอยากให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน ตรวจสอบองค์กรตัวเองให้เรียบร้อย ช่วยปัดกวาดให้เรียบร้อย ส่วนตัวเชื่อว่า คนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน
เมื่อถามว่า ประเด็นเกี่ยวกับคอลเซนเตอร์ จะมีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ ระบุว่า วิธีการของตนเองคือจะพยายามไม่พูดเยอะ เพราะจะได้เห็นกัน แต่ทุกเรื่องสามารถอยู่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทั้งสิ้น เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่อยู่ที่พฤติกรรมของรัฐบาล หากรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจน สามารถสร้างความไว้วางใจได้ คงไม่เหมาะสมที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องนั้น
แต่หากฝ่ายค้านพบว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ยอมแก้ ไม่มีเจตจำนงจะแก้ และสร้างความเสียหาย จนนำไปสู่การที่สภาไม่ให้ไว้วางใจกับฝ่ายบริหารและรัฐมนตรี ก็สามารถนำไปอภิปรายได้ คงไม่อยากสรุปตอนนี้ว่ามีเรื่องใด แต่ยืนยันอีกครั้งว่า เราจับตามองท่านอยู่
“กรณีคอลเซ็นเตอร์อาจจะไม่ถึงขั้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่อยู่ในอภิปรายทั่วไป ซึ่งก็เป็นน้องๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อแถลงนโยบายก็หยิบยกมา เพราะรัฐบาลสัญญากับประชาชนไว้เรื่องนี้ แต่ถึงเวลากลับตรงกันข้าม ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีมาตรการอะไรเลย”
ส่วนกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศเอาจริงเรื่องปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ จนเกิดข้อครหาว่า นายทักษิณพูดอะไร รัฐบาลรับลูกหมด นายรังสิมันต์ ย้ำว่า ตอนนี้ตนเองอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหามาก การที่นายทักษิณพูด เราก็คงรู้ว่ากันว่านายทักษิณมีอิทธิพลอย่างไรกับรัฐบาล แต่ตนเองพยายามมองข้ามเรื่องนั้นไปก่อนในตอนนี้ เพื่อเอาวาระการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ
“ทำยังไงก็ได้เถอะครับ แก้ปัญหาเสียที ความเสียหายกว่าแสนล้านของประเทศไทยที่เงินไหลออก มันรุนแรงเกินไปแล้ว ตอนนี้เรื่องท่องเที่ยวจะตาม อยากให้รัฐบาลเอาจริง อย่าให้เสียของ ท่านอุตส่าห์ทุกทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลขนาดนี้ ช่วยทำให้เกิดประโยชน์โภชผลต่อประชาชนบ้าง” นายรังสิมันต์ ทิ้งท้าย