DSI ส่งสำนวนพร้อมกับตัวผู้ต้องหา คดีกำนันนก ฮั้วประมูล โครงการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เสนออัยการสั่งฟ้อง 41 ราย
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน กรณีบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมี นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดนครปฐมเป็นผู้ชนะ การประมูลเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2566 กว่า 1,500 โครงการ ความเสียหายหลายพันล้านบาท โดยเชื่อว่ามีการตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไป ในทางการประกอบธุรกิจปกติอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)(ง (คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สําคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน) โดยคดีดังกล่าวมีพนักงานอัยการ สำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่เริ่มการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วสามารถดำเนินคดีกับขบวนการที่จัดฮั๊วประมูลในโครงการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหายจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ นายศุภภางกูร พิชิตกุล รองผู้อำนวยการฯ นายวิโรจน์ ทูคำมี รองผู้อำนวยการฯ นายโยธิน ธรรมสุรีย์ ผู้อำนวยการส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 1 นางภัทรพร วิจิตรทัศนา ผู้อำนวยการส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2
และนายนรา จันทร์พ่วง ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการคดี นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษกรณีดังกล่าว จำนวน 48 แฟ้ม รวม 18,433 แผ่น พร้อมความเห็นให้ฟ้องผู้ต้องหา 41 ราย ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต
โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหา “ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้า หรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไป
ในทางการประกอบธุรกิจปกติ ร่วมกันเป็นธุระในการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมตกลงกันในการเสนอราคา ร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะจูงใจให้ผู้นั้น ร่วมดำเนินการใด ๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือเพื่อจูงใจ ให้ผู้นั้นไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาหรือถอนการเสนอราคา เรียก รับหรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 5
ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งในวันนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวพร้อมกับตัวผู้ต้องหา จำนวน 40 ราย ให้พนักงานอัยการร ยกเว้นกำนันนกที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3694/2566 ของศาลอาญา และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 206/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการบังคับใช้กฎหมายทางอาญา (Regulation Enforcement) เกี่ยวกับ
คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญและประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เป็นไปตามดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) โดยมีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เครือข่ายต่อต้านการฮั้วประมูลในพื้นที่ โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Strong Collaboration)
เป็นนโยบายหลักประการสำคัญของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบ เพื่อให้การบริหารองค์มีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป