การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยชีวิตคนไทยโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ เป็นแนวทางหลักในการทำงานวิจัยของ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม และอาจารย์สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีศักยภาพทัดเทียมนวัตกรรมจากต่างประเทศ ทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2568 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ศ.นพ.รังสรรค์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยพึ่งพาอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศ ต้องนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องมือหรือวิธีการรักษา แต่อุปกรณ์หรือวิธีการบางอย่างจากต่างประเทศไม่สามารถตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราได้ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ด้วยฝีมือแพทย์ไทยเพื่อตอบโจทย์ในการรักษาผู้ป่วยได้ตรงเป้าหมายให้มากที่สุด หนึ่งในความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากฝีมือของ ศ.นพ.รังสรรค์คือการพัฒนา ปัญญาประดิษฐ์ในการส่องกล้องเพื่อช่วยแพทย์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการออกแบบ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถช่วยแพทย์ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจในประสิทธิผลของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จากแพทย์ผู้ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และยังมีความแม่นยำสูงกว่าอุปกรณ์ปัญญาประดิษฐ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำระดับโลก และมีการนำไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถนำไปปรับใช้ในการตรวจคัดกรองโรคได้อีกด้วย
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติที่สุดแห่งความภาคภูมิใจในชีวิต
ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์จุฬาฯ มานานกว่า 25 ปี ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าวว่ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดในชีวิต แม้ตลอดระยะเวลาในการทำงานจะได้รับรางวัลมามากมาย แต่รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่ง การได้รับรางวัลนี้เป็นเหมือนการยืนยันว่าผลงานวิจัยที่ผ่านมามีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งของชาติ นอกจากนี้ยังภูมิใจที่ได้สร้างสมดุลระหว่างบทบาทของการเป็นแพทย์ผู้รักษาและนักวิจัยที่มุ่งพัฒนาวงการแพทย์ไทย รางวัลนี้ยังเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการเดินหน้าทำงานเพื่อคนไข้และประเทศชาติต่อไป
เคล็ดลับความสำเร็จของการวิจัยและการสร้างคนรุ่นใหม่
ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าวว่า “ความล้มเหลวเป็นครูที่ดีที่สุดในเส้นทางการเรียนรู้และวิจัย ความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับปรุงและป้องกันไม่ให้ทำผิดซ้ำ นอกจากนี้การทำงานเป็นทีมคือหัวใจสำคัญ ไม่มีใครทำงานใหญ่สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกความสำเร็จที่ผ่านมาเกิดจากการที่มีทีมแพทย์ นิสิต รวมทั้งพยาบาล และนักวิจัยทำงานร่วมกัน” เป้าหมายสำคัญของสถาบันหรือองค์กรที่ทำงานด้านการวิจัยคือการสร้างนักวิจัยรุ่นต่อไปให้เก่งกว่ารุ่นเรา สามารถสานต่อสิ่งที่เริ่มไว้และพัฒนาต่อไปให้ดีกว่าเดิม การส่งต่อองค์ความรู้ สร้างโอกาสและการสนับสนุนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รุุ่นใหม่ จะทำให้วงการแพทย์ไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่องไปในอนาคต
“อย่าท้อถอย อย่าใจร้อนและอย่าเสียเวลากับความผิดหวังนานเกินไป เพราะทุกความสำเร็จมักเริ่มมาจากวิธีการที่ไม่ได้ผล งานวิจัยจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยการวิเคราะห์แก้ปัญหาที่ทำให้ล้มเหลวและนำมาสร้างแผนการวิจัยรอบถัดไปที่ดีขึ้น นอกจากนี้การทำงานเป็นทีม และความอดทนก็เป็นสิ่งสำคัญ กล่าวโดยสรุปสิ่งที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จคือการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และอย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะการล้มคือจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นไปอีกขั้น” ศ.นพ.รังสรรค์ ฝากข้อคิดให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในตอนท้าย