มูลนิธิกระจกเงา เปิดสถิติเด็กไทยหายปี2567 สูงสุดในรอบ 6 ปี ถูกหลอกเข้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 11 ราย เผยหากเด็กสูญหาย หาแล้วไม่พบตัว โทรแจ้ง 191 หรือ แจ้งความได้ทันทีไม่ต้องรอครบ 24 ชม.
วันที่ 10 ม.ค. 2568 ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ สถาบันนิติเวชวิทยา พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พ.ต.อ.หทัยชนก บุญญฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือด ชีวเคมีและเขม่าดินปืน และ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา แถลงข่าวถึงสถานการณ์เด็กหาย และ ดีเอ็นเอโปรคิดส์ การใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการตามหาเด็กหาย
นายเอกลักษณ์ เปิดเผยว่า สถิติรับแจ้งเด็กหาย ของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง ร้อยละ 6 สาเหตุหลักกว่าร้อยละ 72 หรือ 227 คน คือ เด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ
รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่าร้อยละ 9 หรือ 29 คน และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 คน ในปีที่ผ่านมา
ส่วนช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดคือช่วง อายุ 11-15 ปี รวม 171 คน รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 103 คน และช่วงแรกเกิดถึง 10 ขวบ รวม 40 คน
ปลายปี 2566-2567 ที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชน ถูกชักชวน หลงเชื่อ และถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 11 คน โดยอายุน้อยที่สุดที่ถูกหลอกไปทำงานมีอายุเพียง 14 ปี
ลักษณะของการล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเวบไซต์ รายได้ดี ภายหลังจึงพบว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบางรายติดต่อเพื่อให้ครอบครัวส่งเงินเพื่อไถ่ตัวกลับบ้านอีกด้วย
พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า สถาบันนิติเวชวิทยา เป็นศูนย์ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก โดยการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในเด็ก ให้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริง ซึ่งโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป
โดยที่พ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าบุตรหาย ถ้าพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา เมื่อมีการพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ ซึ่งสงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไป จะทำการตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก และจะบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา
ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลเพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็ก ที่สูญหายออกจากบ้าน
อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อแม่ที่ลูกหาย สามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน เพื่อทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมา ตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อมาเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวช” ต่อไป
วันนี้มูลนิธิกระจกเงานำมารดาของเด็กหาย 3 คน ที่หายตัวไปนานหลายปี มาเก็บสารพันธุกรรมในโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เพื่อเป็นความหวังในการตามหาลูก โดยทั้ง 3 ครอบครัว
ประกอบด้วย มารดาของเด็กหญิงจีรภัทร ทองชุม หรือน้องจีจี้หายตัวไปนาน 15 ปี มารดาของเด็กหญิงพัทธวรรณ อินทร์สุข หรือน้องดา หายตัวไป 11 ปี และมารดาของเด็กชายเทอญพงษ์ น้องอัษ หายตัวไปนาน 6 ปี
พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวทิ้งท้ายกับผู้ปกครองถึงเรื่องแนวทางการป้องกันเด็กสูญหาย ว่า 1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า
2.ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ
5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือ แจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.