เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ.โคราช 4 กลุ่มสู้เดือด ‘อ.เมือง’ ดุแน่ ปชช.หวังผู้ชนะบริหารงบคุ้ม
GH News January 10, 2025 03:40 PM

เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ.โคราช 4 กลุ่มการเมืองสู้เดือด ‘อ.เมือง’ ดุแน่ ปชช.หวังผู้ชนะบริหารงบคุ้มค่า

หลังจากเปิดรับสมัครเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครนายก อบจ.ทั้ง 4 คนแล้ว โดยทั้ง 4 คนมีคุณสมบัติครบถ้วน ประกอบด้วย เบอร์ 1 นายทักษิณ เขื่อนโคกสูง ผู้สมัครอิสระ, เบอร์ 2 นางยลดา หวังศุภกิจโกศล จากพรรคเพื่อไทย, เบอร์ 3 นายมารุต ชุ่มขุนทด ผู้สมัครอิสระ และ เบอร์ 4 ร.ต.อ.นิติรักษ์ ฟักกระโทก ผู้สมัครอิสระ

ขณะที่ผู้สมัคร ส.อบจ.นครราชสีมา ทั้ง 48 เขต จาก 32 อำเภอ มีผู้สมัคร 153 คน แต่จากการตรวจสอบคุณสมบัติ พบว่าขาดคุณสมบัติไป 3 คน ประกอบด้วย ผู้สมัคร ส.อบจ.เขต 2 อ.สีคิ้ว, เขต 1 อ.จักราช และเขต 1 อ.ชุมพวง ซึ่งผู้สมัครทั้ง 3 รายไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อมเทศบาล

4 กลุ่มการเมือง ส่งผู้สมัครชิงชัย

แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่น่าสนใจว่า ศึก อบจ.ครั้งนี้มี 4 กลุ่มการเมือง ส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งด้วย

กลุ่มที่ 1 พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือ กำนันป้อ เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮง อ.เสิงสาง ซึ่งเป็นบ้านใหญ่พรรคเพื่อไทย ส่งภรรยาสุดที่รักคือ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล หรือ มาดามหน่อย ที่เพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ลงสมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เพื่อรักษาเก้าอี้ในฐานะแชมป์เก่า

“มาดามหน่อย” ได้รับแรงสนับสนุนจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมาเปิดตัวด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับส่งผู้สมัคร ส.อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทยอีก 41 คน

กลุ่มนี้มี ส.ส.นครราชสีมา จากพรรคเพื่อไทย 12 คน คอยสนับสนุนเต็มที่อีกด้วย จึงถือว่ามาดามหน่อยเป็นเต็ง 1 ของการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ ส่วนผู้สมัคร ส.อบจ.ในสังกัดบ้านใหญ่โรงแป้งมันเอี่ยมเฮง “กำนันป้อ” ไม่ได้สนับสนุนทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็น ส.อบจ.แชมป์เก่าที่อยู่ในสังกัด “ยลดา” เท่านั้น

กลุ่มที่ 2 พรรคประชาชน ส่งผู้สมัครเฉพาะ ส.อบจ.จำนวน 13 คน เน้นเขต อ.เมือง ที่ส่งครบทั้ง 8 เขต นอกนั้นอยู่ต่างอำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง 2 คน อ.เทพารักษ์ อ.เมืองยาง และ อ.ขามสะแกแสง อำเภอละ 1 คน โดยมี นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 เป็นหัวเรือใหญ่ และ ส.ส.เขต 2-3 คอยสนับสนุนอีกแรง

อย่างไรก็ดี พรรคประชาชนไม่ได้ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ด้วยเห็นแล้วว่าการล้ม “มาดามหน่อย” แชมป์เก่า เป็นงานหิน

กลุ่มที่ 3 พรรคชาติพัฒนา นำโดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนา ส่ง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค เป็นแม่ทัพใหญ่ พร้อมด้วย นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรค เปิดศึกส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.อบจ.เขต อ.เมือง 8 ที่นั่ง หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา เสียที่นั่งส.ส.ในเขต อ.เมือง ให้กับพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน

ครั้งนี้ “สุวัจน์” จับมือกับ “เพื่อไทย” ตั้งเป้ายึดที่นั่ง ส.อบจ.เขตเมืองนครราชสีมาทั้ง 8 เขต เพื่อเป้าหมายทวงคืน ส.ส.ที่นั่งทั้ง 3 คน จากพรรคประชาชน

ขณะเดียวกัน พรรคชาติพัฒนามั่นใจฐานเสียงในเขต อ.เมือง ทั้ง 8 เขต ประกอบกับเชื่อว่ากระแสความนิยมในพรรคประชาชนพื้นที่โคราชไม่เหมือนครั้งที่เป็นพรรคก้าวไกลแล้ว ไม่ว่าจะเลือกผู้สมัครในระดับการเมืองท้องถิ่น หรือระดับชาติ ทำให้โอกาสที่พรรคประชาชนจะได้เป็นฝ่ายบริหาร หรือเป็นรัฐบาล ยังมองไม่เห็นหนทาง

กลุ่มที่ 4 กลุ่มอิสระ ซึ่งมีผู้สมัครนายก อบจ.ในนามกลุ่มนี้ถึง 3 คน ได้แก่ นายมารุต ชุ่มขุนทด เบอร์ 3 จากกลุ่มพัฒนาโคราช เจ้าของร้านกาแฟคลาสคาเฟ่หลายสาขาในโคราช ที่ก่อนหน้านั้นหวังเปิดตัวในนามพรรคประชาชน แต่ต้องอกหัก จึงประกาศลงสมัครในกลุ่มอิสระ และมีการลงพื้นที่หาเสียงมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยหวังฐานเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาชนเทคะแนนให้ เนื่องจากพรรคประชาชนไม่ได้ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในครั้งนี้

ส่วนผู้สมัครนายก อบจ.กลุ่มอิสระอีก 2 คน คือเบอร์ 1 นายทักษิณ เขื่อนกระโทก อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อชาติ และเบอร์ 4 ร.ต.อ.นิติรักษ์ ฟักกระโทก ข้าราชการบำนาญ ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองมองว่าลงสมัครเป็นสีสัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้สมัคร ส.อบจ.ในนามกลุ่มอิสระอีกหลายคน ที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ โดยหวังคะแนนเสียงจากพลังเงียบในพื้นที่อีกด้วย

ความคาดหวังของคนโคราช

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามถึงความคาดหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดย นายเทวฤทธิ์ อายุ 48 ปี อาชีพช่างภาพอิสระที่รับจ้างถ่ายรูปนักท่องเที่ยวบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ ยังไม่มีอะไรที่จะคาดหวัง เพราะที่ผ่านมายังสัมผัสไม่ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเลย

นายเทวฤทธิ์เผยว่า ประชาชนทั่วไปอย่างตนหาเช้ากินค่ำก็หวังเพียงว่าถ้าทำให้เศรษฐกิจดี มีเงินในกระเป๋าเพิ่ม ค่าใช้จ่ายลดลง รู้สึกพอใจแล้ว แต่ที่ผ่านมามัวแต่เล่นการเมืองกัน ขัดแข้งขัดขากัน จนไม่เห็นการลงพื้นที่มาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนเป็นชิ้นเป็นอันเสียที เพราะนักการเมืองท้องถิ่นถือว่าใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดแล้ว ย่อมรู้ปัญหาในพื้นที่มากกว่านักการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะงบประมาณบริหารท้องถิ่นมาปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ถ้านำมาใช้พัฒนาพื้นที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีได้มากขึ้นแน่นอน

นายมานะ อายุ 46 ปี พ่อค้าทำเครื่องบายศรีในตลาดใหม่แม่กิมเฮง กล่าวว่า ไม่คาดหวังอะไรเลยจากการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ เพราะนักการเมืองท้องถิ่นจะเห็นหน้าบ่อยมากก็เฉพาะตอนหาเสียง แต่หลังจากเลือกตั้งไปแล้วก็หายเงียบ แทบไม่โผล่มาให้เห็นหน้าอีกเลย

“ท้ายที่สุดการเมืองท้องถิ่นก็อิงกับการเมืองระดับชาติหมด ประชาชนเข้าไม่ถึง สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะงบประมาณที่นำไปทำถนน จะเห็นว่านักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่เน้นเรื่องนี้มาก ทำแล้วก็ทุบเพื่อทำซ้ำอีก จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘สภาผู้รับเหมา’ ไปแล้ว

ส.อบจ.ได้งบมาก็ขายงบ ขายงาน เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย แทนที่จะนำงบประมาณส่วนใหญ่มาทำอะไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น เช่น นำมาพัฒนาสถานที่ค้าขาย ส่งเสริมอาชีพต่างๆ จะดีกว่า อยากฝากถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นว่าตอนลงพื้นที่หาเสียงได้พูดอะไรไว้กับประชาชน ถ้ายังจำได้ก็ขอให้ทำตามคำพูดนั้นด้วย” นายมานะระบุ

ขณะที่ นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ ชาว จ.นครราชสีมา ได้ออกมาวิเคราะห์การเลือกตั้ง อบจ.นครราชสีมาครั้งนี้ว่า จ.นครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดใหญ่ มี 32 อำเภอ และมี ส.อบจ.มากถึง 48 เขต ก.ก.ต.ใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งละประมาณ 150 ล้านบาท การเลือกตั้ง อบจ.นครราชสีมาครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. 4 คน ซึ่งเดิมทีทั้ง 4 คนนี้จะลงในนามอิสระทั้งหมด เพราะสะดวกในการหาเสียง เนื่องจาก ส.อบจ.ก็จะสังกัดพรรคการเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น จึงสะดวกใจที่จะเข้าหาได้ทุกกลุ่มการเมือง

“แต่โค้งสุดท้ายก่อนลงสมัคร ปรากฏว่านางยลดา ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ที่ก่อนหน้านั้นมีการคาดหมายว่าจะลงอิสระ แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะสังกัดพรรคเพื่อไทย เพราะนายทักษิณ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย มาคุยที่โคราชด้วยตนเอง อีกทั้ง น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ซึ่งเป็นลูกสาวของนางยลดาก็อยู่พรรคเพื่อไทย และยังเป็น รมว.วัฒนธรรม ในรัฐบาลชุดนี้อยู่ นางยลดาจึงตัดสินใจลงในนามพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี ส.อบจ.เก่าของพรรคเพื่อไทย มาอยู่ในสังกัดด้วย จำนวน 41 คน จากทั้งหมด 48 คน” นายทวิสันต์กล่าว

นายทวิสันต์กล่าวว่า ส่วน ส.อบจ.ที่เหลืออีก 7 คน เป็นของพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าปัจจุบันนี้กลุ่มชาติพัฒนา ที่มีนายสุวัจน์ เป็นแกนนำ ก็เป็นกลุ่มเดียวกันแล้วกับพรรคเพื่อไทย เพราะนายสุวัจน์กับนายทักษิณสนิทสนมกันมาก จึงคาดการณ์ว่าพรรคการเมืองทั้ง 2 กลุ่มนี้จะคุยกันลงตัวแล้วว่า ส.อบจ.เขต อ.เมือง 7 คน ให้พรรคชาติพัฒนา ส่วน ส.อบจ.เขตอื่นๆ อีก 41 คน ให้พรรคเพื่อไทย

นายทวิสันต์กล่าวอีกว่า สำหรับการต่อสู้ที่ดุเดือดมากที่สุดคงจะเป็นเขต อ.เมือง 8 เขต ซึ่งมีพรรคการเมือง 3 กลุ่ม ส่งผู้สมัคร ส.อบจ.ชิงเก้าอี้กัน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติพัฒนา และพรรคประชาชน ซึ่งหลายคนที่ลงสมัครก็มีดีกรีไม่ธรรมดา บางคนเป็นแชมป์เก่า บางคนเป็นอดีต ส.ท. บางคนเป็นถึงอดีตประธานสภาเทศบาล ดังนั้น จึงน่าจับตาเป็นอย่างมาก ส่วนเขตต่างอำเภอเชื่อว่าคนเก่าน่าจะสามารถรักษาเก่าอี้เดิมไว้ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

นายทวิสันต์กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อปี 2562 นางยลดา ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ด้วยจำนวน 617,351 คะแนน, อันดับที่ 2 นายสาธิต ปิติวรา คณะก้าวหน้า ได้ 255,482 คะแนน, อันดับที่ 3 นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้สมัครอิสระ ได้ 219,041 คะแนน, อันดับที่ 4 นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ผู้สมัครอิสระ ได้ 40,133 คะแนน และอันดับที่ 5 นายตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้ 8,770 คะแนน

“ดังนั้น ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ จึงเชื่อว่านางยลดาจะได้คะแนนไม่น้อยกว่าครั้งที่แล้ว ส่วนคู่แข่งที่น่าจับตาก็มีเพียงคนเดียวคือนายมารุต คาดว่าน่าจะได้คะแนนประมาณ 1 แสนปลายๆ ถึง 2 แสนคะแนน ซึ่งก็ไม่ชนะ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสั่งสมชื่อเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ สรุปแล้วก็เชื่อว่านางยลดาฯ จะสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้

“การเลือกตั้ง อบจ.ทุกวันนี้ไม่เหมือนในอดีตแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในอดีตเคยเชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ผลการเลือกตั้งแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ทุกวันนี้เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี ส.ส.มากถึง 132 ที่นั่ง หากพรรคใดสามารถยึดที่นั่งท้องถิ่นได้มากก็มีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้นด้วยเช่นกัน” นายทวิสันต์กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.