ปี 2567 เป็นปีที่โดดเด่นของทองคำ ราคาทองปรับขึ้นทำ All Time High อย่างต่อเนื่อง ราคาทอง Spot ปิดสิ้นปี 2567 ที่ 2,623 ดอลลาร์ ให้ผลตอบแทน 27% ส่วนราคาทองแท่งในประเทศปิดสิ้นปี 2567 ที่ 42,400 บาท ให้ผลตอบแทน 26%
ราคาทองตลาดโลกปรับตัวขึ้นแตะจุดสูงสุดที่ 2,790 ดอลลาร์ ให้ผลตอบแทนสูงถึง 35% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ในอดีตที่ผ่านมาวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐในปี 2007 ทองคำให้ผลตอบแทน 31% วิกฤตโควิด-19 ปี 2020 ทองคำให้ผลตอบแทน 25%
ปี 2567 เป็นปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งสหรัฐ ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ปีของอัตราดอกเบี้ยขาลง และเป็นปีที่มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สูง โดยเฉพาะสถานการณ์ตะวันออกกลางที่กังวลว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 3
และยังมีแนวโน้มรุนแรงอยู่ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นทำ All Time High ทั้งราคาทองโลกและราคาทองในประเทศ ราคาทองแท่งขายออกของสมาคมทำ All Time High แตะ 44,550 บาท
กลุ่มฮั่วเซ่งเฮงประเมินเป้าหมายราคาทองคำ Spot ในปี 2568 ที่ 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของสถาบันการเงินต่างชาติที่มองเป้าหมายไว้ที่ 3,000 ดอลลาร์ ส่วนเป้าหมายราคาทองแท่งในประเทศ 46,850 บาท ด้วยสมมติฐานเงินบาทที่ 33 บาท
โดยคาดว่าการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ Spot ปีนี้จะอยู่ในกรอบ 2,500-3,000 ดอลลาร์ และราคาทองคำแท่งในประเทศจะเคลื่อนไหวกรอบ 42,550-46,850 บาท หากราคาทองคำโลกปรับตัวลงสู่กรอบล่างที่ 2,500 ดอลลาร์ คาดว่าแนวโน้มดอลลาร์แข็งค่าจากความคาดหวังว่านโยบายของทรัมป์ 2.0 จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีขึ้น
ดังนั้น เงินบาทอ่อนค่าลงไปที่ 36 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทองแท่งในประเทศมาอยู่ที่ระดับ 42,550 บาท
ปัจจัยที่คาดขับเคลื่อนให้ราคาทองคำไปที่ 3,000 ดอลลาร์ คือ 1) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสถานการณ์ตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
2) Dedollarization ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ของกลุ่ม BRICS และประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่สงครามการค้าที่รุนแรงอาจจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้มีแรงซื้อทองคำเข้ามา
ส่วนปัจจัยที่กดดันราคาทองคำคือ นโยบายของทรัมป์ 2.0 จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และเฟดชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งหลังการประชุมเฟดครั้งล่าสุด Dot Plot หรือการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ท่าทีของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สะท้อนให้เห็นว่าเฟดจะไม่รีบร้อนในการลดอัตราดอกเบี้ย
หรือเป็นนัยว่าเฟดจะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่มุมมองของตลาดคาดเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง และอาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อของสหรัฐ