รัฐ-เอกชน จี้กฟผ.ลดค่าไฟฟ้า เสนอสารพัดสูตร ทำอย่างไรจะหั่นค่าไฟลงให้ได้อีก 45 สตางค์ ด้าน ส.อ.ท.เสนอรีดไขมัน ด้วยการยืดหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกเอาไว้ กับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) ตัวการใหญ่ที่ทำให้ค่า Ft พุ่งลงมา แนะเปลี่ยนสูตรคำนวณค่าไฟฟ้าด้วยการให้ กฟผ.ลดอัตราส่วนผลตอบแทนเงินลงทุน (ROIC)-ส่วนแบ่งผลกำไรลง
แม้ว่าคำประกาศของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “จะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือเพียงหน่วยละ 3.70 บาท” ในระหว่างการหาเสียงให้ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเป็นเพียงแค่ “Vision” ก็ตาม
แต่คำประกาศดังกล่าวกลับตั้งความหวังและสร้างความกระตือรือร้นให้กับ รัฐบาล ที่พยายามจะไปให้ถึง Vision นั้นให้ได้ จากข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สูงถึง 4.15 บาท/หน่วย
นั้นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องหาวิธีการที่จะลดค่าไฟฟ้าลงมาให้ได้อีก 45 สตางค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ทั้งจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสม (AF) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือการปรับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) ยังเป็นตัว “กดดัน” ค่าไฟฟ้าไม่ให้ต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยอยู่
ในการประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 โดยเลือกจากกรณีที่ 3 “ตรึง” ค่า Ft ให้เท่ากับงวดปัจจุบัน และยังได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่า Ft ขายปลีกสำหรับเรียกเก็บงวด ม.ค.-เม.ย. 68 จึงมีมติเห็นชอบค่า Ft เรียกเก็บเท่ากับ 36.72 สตางค์/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดมกราคม-เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย หรือลดลงจากกรณีที่ 3 ที่คำนวณได้ 4.18 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตในการพิจารณาค่า Ft งวดนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความพยายามที่จะหาวิธีการที่จะลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดปัจจุบันลงอีก 45 สตางค์ ตาม Vision ของอดีตนายกฯทักษิณนั้น แม้อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยที่มี “ต้นทุนราคาถูก” (ราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย) แต่เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ถึง 85,236 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงวิกฤตสะสมยังคงสูงอยู่ หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์/หน่วย
นอกจากนี้ยังมีประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense หรือ PE) ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ที่คาดว่า กฟผ.จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายรัฐ (Adder/FiTa) และค่าใช้จ่ายในส่วนของ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า รวมเป็นเงินประมาณ 11,032 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเท่ากับ 17 สตางค์/หน่วยด้วย ในขณะที่ด้านการซื้อไฟฟ้าในประเทศก็ยังมี ค่าความพร้อมจ่าย (AP) อยู่อีก 19,873 ล้านบาท ขณะที่ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment-AP) ของการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 5,319 ล้านบาท เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับงวด ม.ค.-เม.ย. ยังคงสูงอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจะลดค่าไฟให้เหลือ 3.70 บาท/หน่วย เป็นวิธีการ “รีดไขมัน” ของนายทักษิณเพื่อลดต้นทุนนั้น “สามารถทำได้” และตรงกับวิธีการที่ ส.อ.ท.เคยได้เสนอไว้ด้วยการ 1) Refinance หนี้ของ กฟผ. (85,236 ล้านบาท-AF ที่จะต้องถูกนำมาคำนวณค่า Ft ทุกงวดเป็นตัวกดดันไม่ให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลง) ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางเพื่อลดภาระดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาการคืนหนี้ตามอายุพันธบัตร ทำให้สามารถลดค่าไฟลงไปได้ 0.10 บาทต่อหน่วย
2) ลดไขมันจากการที่มี “Magin” แฝงทั้งระบบ โดยไม่ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ตั้งแต่การจัดหาก๊าซธรรมชาติและก๊าซ LNG การลดค่าผ่านท่อ ตลอดจนเปิดการเจรจาเพื่อปรับลด ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ให้เหมาะสม และโยกบางส่วนมาเป็นค่าเชื้อเพลิง (EP) สูงขึ้น ไม่ใช่ให้โรงไฟฟ้าคืนทุนโดยไม่ต้องเดินเครื่องจากกำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่ “ล้นเกิน” อยู่ในขณะนี้ โดยวิธีการนี้คาดว่า จะลดค่าไฟฟ้าลงมาได้ 0.15-0.20 บาท/หน่วย
3) สนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ด้วยการเปิดเสรีโซลาร์เพื่อลดต้นทุนโรงไฟฟ้าฟอสซิลของ กฟผ. ลดการนำเข้า LNG ที่แพงลง จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อีก 0.10-0.15 บาท/หน่วย และ 4) การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหาร เช่น การประมูลซื้อขายไฟฟ้าและจัดหา LNG แบบเสรี แทนการกำหนดราคาเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าไฟลงไปได้ 0.10 บาทต่อหน่วย
“ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้ แต่ตอนนี้ค่าพร้อมจ่ายบ้านเรามีราคาแพงเกินไป แต่ใช้ในปริมาณน้อยและมีปริมาณโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า แม้โรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ภาครัฐก็จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (AP) ในส่วนนี้ด้วย ทำให้กลายเป็นต้นทุนแฝงไปกับการคำนวณค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในแต่ละงวดด้วย” นายอิศเรศกล่าว
ด้านนายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า โอกาสที่จะเห็นตัวเลขค่าไฟฟ้าที่ 3.70 บาท/หน่วยนั้น “อาจทำได้ แต่คงไม่ใช่ปีนี้” แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอาจจะเห็นตัวเลขประมาณนี้ได้ โดยสิ่งที่ต้องทำก็คือ เพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานราคาถูกและสะอาดโดยเร็ว และต้องไม่เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพง จากปัจจุบันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 61% ถ่านหิน 10% นำเข้าจากเขื่อนลาว 15% และพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ราว 10%
ปัจจุบันพลังงานสะอาดมีราคาถูก ดังนั้นควรจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นโดยเร็ว เพราะเป็นทางออกที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง “ต้องรีบห้ามเลือดการจัดการพลังงานของเราให้เร็วที่สุดให้เป็นพลังงานสะอาดและถูกควบคู่กัน ขณะที่การนำเงินเข้ามาช่วยอุดหนุน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระหนี้อยู่ราว 80,000 ล้านบาทนั้น เป็นเรื่องของการบริหารต้นทุนของเก่าที่มีความผิดพลาด หากจะให้ลดค่าไฟให้มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ต้องมียืดระยะเวลาอุดหนุนเพิ่มอีก” นายอาทิตย์กล่าว
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแนวทางการลดค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.70 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาท จากปัจจุบันทั้งระบบมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 45,000 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งแบ่งออกเป็นการผลิตจาก 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ กฟผ.ผลิตเอง มีสัดส่วนประมาณ 31.78% กับ 2) โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 38.31% โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) 17.72% การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (Foreign) อีก 12.19% รวมกันมีสัดส่วน 61.69% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
โดยการคำนวณค่าไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ. จะคำนวณจาก ต้นทุนการผลิตบวกกับกำไร (Cost Plus) ขณะที่ส่วนของไฟฟ้าของเอกชนขายให้ กฟผ. จะมาจาก 2 ส่วน คือ
1) ค่าความพร้อมจ่าย AP (Availability Payment) ซึ่งเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คิดจากเงินลงทุนที่สะท้อนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมกับค่าใช้จ่ายในการผลิตและบำรุงรักษา
2) ค่าพลังงานไฟฟ้า EP (Energy Payment) คือ ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าทั้ง 2 ส่วนจะมีการคำนวณต้นทุน บวกกับกำไร ให้กับผู้ผลิตรวมอยู่ด้วย โดยในส่วนของ กฟผ. กำหนดส่วนแบ่งกำไรที่ กฟผ.จะได้รับจากรัฐบาล หรือกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในอัตรา 5.26% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อจากภาคเอกชน จะมีการคิดต้นทุนการผลิต ค่าพร้อมจ่าย และกำไรในอัตราเฉลี่ยประมาณ 11-12% ตลอดอายุสัมปทานการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. 25 ปี
หากรัฐบาลมีแนวทางจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาท/หน่วย ก็ “อาจจะ” ใช้วิธีการปรับลดอัตราค่าไฟจากกำลังผลิตไฟใน 2 ส่วน ซึ่งมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) แต่การปรับลดค่า AP อาจจะนำไปสู่การฟ้องของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ซึ่ง “ยากที่จะดำเนินการได้” ดังนั้น วิธีการที่จะเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือ การปรับลดอัตราส่วนแบ่งกำไรให้กับ กฟผ. จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.26% แต่วิธีการนี้ขึ้นอยู่กับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ด้วยว่าจะดำเนินการหรือไม่ เพราะอาจมีผลต่อการนำส่งรายได้ของ กฟผ.ให้กับรัฐบาล
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงอีกวิธีการหนึ่งที่จะลดค่าไฟฟ้าลงมาได้ก็คือ การลดอัตราส่วนผลตอบแทนของเงินลงทุน (ROIC) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือผู้ประกอบการเอกชนที่ลงทุนผลิตไฟฟ้าจะได้รับ ซึ่ง ROIC นี้ จะชาร์จอยู่ในค่าไฟฟ้า โดยหากจะเปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณ หรือ “ลด ROIC ลง” ก็จะช่วยลดค่าไฟลงได้
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เป็นผู้กำหนดค่าไฟฟ้า “นึกถึงว่า ถ้าเขาเรียกผลตอบแทน 5% ในค่าไฟก็จะมี 5% นี้อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งถ้าลดจากนั้นก็จะลดค่าไฟได้อีก หากทำทั้งสองฝั่ง ทั้งรัฐและเอกชน ก็จะลดลงได้ทั้งระบบ เพราะนี่เป็นสูตรคำนวณค่าไฟ”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการกำหนดค่าไฟฟ้า หรือสูตรคำนวณค่าไฟ แต่จะเกี่ยวข้องกับ กฟผ. ก็เพียงกำกับในเรื่องการเบิกจ่ายงบฯลงทุนว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ ผลการดำเนินงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีกำไรหรือไม่ แล้วต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐเท่าไหร่ “การนำส่งรายได้เข้ารัฐของ กฟผ. ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องค่าไฟเลย เพราะเงินนำส่งคิดจากกำไร กฟผ.มีกำไรเท่าไหร่ ก็นำส่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แบ่งจากกำไรนั้น ไม่เกี่ยวกับการกำหนดค่าไฟแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว