อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยอหิวาตกโรคในไทยไม่พบการระบาดเพิ่ม แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.68 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดระดับภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกเป็นการบริหารจัดการเพื่อให้ทุกประเทศมีความตระหนักและร่วมกันป้องกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปในวงกว้าง เนื่องจากในหลายประเทศ พบผู้ป่วยและการระบาดของอหิวาตกโรคมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เหมือนการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยกำหนดให้อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
สถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.67 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันอหิวาตกโรค จำนวน 11 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ล่าสุดเป็นการระบาดใน จ.ตาก 6 ราย (เป็นผู้ป่วยที่มีอาการ 3 ราย และผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 3 ราย) โดยผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อ Vibrio cholerae O139 จำนวน 3 ราย Vibrio cholerae El Tor Inaba 1 ราย Vibrio cholerae El Tor Ogawa 7 ราย เป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 8 ราย สัญชาติไทย 7 ราย เมียนมา 3 ราย และชาวกะเหรี่ยง 1 ราย อายุ 15 – 29 ปี 2 ราย อายุ 30 – 44 ปี 4 ราย และอายุ 60 ปีขึ้นไป 5 ราย โดยพบผู้ป่วยในเดือน ก.พ. มี.ค. มิ.ย. ต.ค. และ ธ.ค. ใน จ.นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และตาก สถานการณ์อหิวาตกโรค 5 ปีย้อนหลัง ในประเทศไทย (ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566) พบผู้ป่วยประปราย อยู่ระหว่าง 1 – 12 ราย
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันตนเองจากอหิวาตกโรค การดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่ม เป็นสิ่งสำคัญ ให้เลือกรับประทานอาหารที่ สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ ทุกครั้ง โดยยึดหลัก “กินสุก ร้อน สะอาด” หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หากมีอาการถ่ายเหลวในระหว่างที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422