น็อนแบงก์อ่านเศรษฐกิจ โจทย์ยากธุรกิจ-กังวลคุณภาพหนี้
SUB_BUA January 13, 2025 01:44 PM

เข้าสู่ปี 2568 หลายฝ่ายเริ่มมองว่า เศรษฐกิจไทยจะโตช้าลง เพราะมองไปข้างหน้า เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งภายนอกและภายใน หลังจากปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ดีนัก โดยเฉพาะธุรกิจด้านสินเชื่อที่การเติบโตมักจะล้อไปตามภาวะเศรษฐกิจ

บัตรกรุงศรีฯ หวั่นใจ ศก.ปี’68

นายอธิศ รุจิวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ทั้งในส่วนบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2568 น่าจะยังคงมีความยากลำบากมากขึ้นกว่าในปี 2567

เนื่องจากยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยหลัก คือเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาดหวังไว้ ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด

โดยคาดว่าปีนี้อัตราการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบจะขยายตัวค่อนข้างต่ำในระดับ Low Single Digit เฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ภายใต้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่หลายฝ่ายมองว่าจะโตได้ 3% ซึ่งในส่วนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าการเติบโตสอดคล้องกับจีดีพีอยู่ที่ 2-3 เท่า หรือมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) เติบโตราว 6-9%

อย่างไรก็ดี ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และหนี้ครัวเรือนสูง จะเห็นว่าสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าความต้องการสินเชื่อไม่ได้ปรับลดลง แต่ลูกค้ามีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) จะขึ้นอยู่กับแต่ละแห่ง ในส่วนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยอดการอนุมัติสินเชื่อคาดจะปรับลดลงราว 2% จากระดับกว่า 40% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบน่าจะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

“ตั้งแต่ทำงานมา 20 ปี มองว่าเป็นปีที่มีความท้าทายมาก เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่คาดหวัง ซึ่งสิ่งที่เรากังวลที่สุด คือ สภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก เรายังไม่รู้ว่า เศรษฐกิจจะสามารถ Pick up ได้แค่ไหน ดังนั้น ทุกแห่งคงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่และการหาลูกค้าใหม่ และทิศทางหนี้เสียคงไม่ดีกว่าปี 2567”

“เคทีซี” โฟกัสลูกค้าระดับบน

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” กล่าวว่า โจทย์ของธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ในปี 2568 ยังคงอยู่ที่เรื่องคุณภาพลูกค้า และคุณภาพสินเชื่อ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

หากยังไม่ได้ถูกแก้ไขได้ครบถ้วน แต่ก็จะเห็นว่ารัฐบาลและหลายฝ่ายพยายามหาทางแก้ไขอยู่ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าคนจะมีหนี้ หากมีรายได้ใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ก็สามารถปลดหนี้ได้ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้คนมีรายได้

ดังนั้น แนวการดำเนินธุรกิจในปี 2568 เชื่อว่าสถาบันการเงินทุกแห่ง คงพยายามจะหาโอกาสในการเติบโต และเข้าไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในบางช่วง อย่างไรก็ดี หากมีการทดลองและศึกษาแล้วไม่คุ้มค่ากับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับ ก็อาจจะแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะการดำเนินธุรกิจจะต้องอยู่บนพื้นฐานการบริหารความเสี่ยงกับอัตราผลกำไร

สำหรับเคทีซี จะเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น เพราะบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพลูกค้าและคุณภาพสินเชื่อเหมือนในปี 2567 ซึ่งพอร์ตมีการเติบโตได้ค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งมาจากการคัดกรองลูกค้าตั้งแต่เริ่มเข้ามา ขั้นตอนการติดตามทวงถามหนี้ และกรณีที่ลูกค้าเริ่มมีปัญหารีบเข้าไปช่วยเหลือ

“โจทย์ของธุรกิจปี ยังอยู่บนความท้าทายของคุณภาพหนี้ ภาคส่งออกดีขึ้น แต่คงไม่ได้ดีขึ้นทุกเซ็กเตอร์ ท่องเที่ยวดีขึ้น แม้ว่ารัฐจะมีแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจะต้องเล็งให้ถูก ว่าเราจะไปหาลูกค้าที่ตรงไหน ดังนั้น ความสำคัญที่สุดของเคทีซี คือการรักษาคุณภาพ และผลกำไร ซึ่งการเติบโตเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการใช้จ่าย ส่วนหนี้เสีย เราก็ให้ไม่เกิน 2%”

“MTC” หวังคุณภาพหนี้ดีขึ้น

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) กล่าวว่า ปี 2568 น่าจะเป็นปีที่ดีขึ้น เนื่องจากมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน “คุณสู้ เราช่วย” ที่ภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแผนการจะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือน

ซึ่งหากมาตรการประสบความสำเร็จ จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียน และส่งผลต่อแผนระยะกลางในเรื่องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ของไทยปรับดีขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมจะปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ในมุมการทำธุรกิจจะอยู่ในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจการปล่อยสินเชื่อจะต้องระมัดระวัง และมองเรื่องของคุณภาพหนี้เป็นหลัก ซึ่งในส่วนของ MTC หากมีความต้องการ (Demand) ที่มีคุณภาพบริษัทก็พร้อมจะขยายธุรกิจไปในเซ็กเมนต์ดังกล่าว แต่หากเป็นความต้องการที่ไม่ดีก็ต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน

โดยในปี 2568 บริษัทจะมุ่งในกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดวงเงินเล็กลงเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาทต่อราย ส่วนหนึ่งเพื่อการกระจายความเสี่ยง เพราะผู้กู้วงเงินขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามด้วย รวมถึงบริษัทจะเพิ่มขั้นตอนการวิเคราะห์ลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน รายได้ผู้กู้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ดังกล่าวอาจจะไม่ได้เข้มข้นจนผลักดันลูกค้าออกไปใช้บริการนอกระบบ

“เรามองว่า น่าจะเป็นปีที่ดีในแง่มาตรการที่จะเข้ามาช่วยลดหนี้ครัวเรือน แต่ในแง่ธุรกิจก็คงเน้นเรื่อง Asset Quality แต่เชื่อว่าหนี้เสียน่าจะลดลงได้ และเรายังเน้นการทำธุรกิจตามมาตรฐาน ธปท.และธนาคารโลก และขยายสาขาต่อไป”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.