แนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ท่ามกลางปัญหาพลาสติกจีนทะลัก
SUB_NOI January 13, 2025 01:44 PM
คอลัมน์ : นอกรอบผู้เขียน : สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่สูงกับเม็ดพลาสติกจีน โดยเฉพาะ Polypropylene (PP) ากปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) ในจีน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา จีนมีการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกอย่างต่อเนื่องจากนโยบายพึ่งพาการผลิตในประเทศ

ขณะที่ความต้องการเม็ดพลาสติกในจีนมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เม็ดพลาสติกจีนทะลักเข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น สะท้อนจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในตลาดอาเซียนสูงถึง 21% จาก 7% ในปี 2562

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของไทยในตลาดอาเซียนลดลงเหลือเพียง 6% จาก 11% ในปี 2562 เช่นเดียวกับส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33% จาก 13% ในปี 2562

โดยในปี 2568-2569 Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 10-11 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2560-2562 ที่ 12.3 ล้านตันต่อปี ราว 15% โดยมีปัจจัยกดดันหลักมาจาก 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ปัญหา Overcapacity ในจีนยังไม่ดีขึ้น โดย Nexant คาดว่า ในปี 2568-2569 จะมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเม็ดพลาสติก PP ในจีน สูงถึง 12 ล้านตันต่อปี

2) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อเม็ดพลาสติกไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน เนื่องจากไทยส่งออกเม็ดพลาสติกไปจีนสูงถึงราว 30% ของปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เม็ดพลาสติกจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและประเทศที่ไทยส่งออกอย่างกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

และ 3) ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มลดลงตามการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2568-2569 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 1.47-1.53 ล้านคันต่อปี เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จำกัดจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากการที่ไทยเน้นผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นหลัก

นอกจากนี้ในระยะถัดไป ธุรกิจเม็ดพลาสติกยังมีปัจจัยท้าทายด้าน ESG ที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรปที่อาจขยายขอบเขตของมาตรการไปยังเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกระทบต้นทุนการส่งออกของเม็ดพลาสติกไทย โดยเฉพาะโพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) และโพลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (HDPE) ที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 7.78 และ 6.71 kgCO2e ต่อหน่วย

ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับพลาสติกชนิดอื่น และสูงกว่าสินค้าที่ถูกจัดเก็บมาตรการ CBAM ในระยะแรกอย่างเหล็กและอะลูมิเนียม อีกทั้งยังมีความท้าทายจากมาตรฐาน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตครอบคลุมการผลิตเคมีภัณฑ์อินทรีย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกจากฟอสซิล อาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทยสูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสีเขียว

plastic pellets

ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับเม็ดพลาสติกทั่วไป (Commercial Grade) และช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพและเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialty Polymers) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9.5% CAGR และ 13.5% CAGR (ปี 2566-2575) ตามลำดับ

นอกจากนี้ การติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าจะมีระยะเวลาคืนทุนราว 6-7 ปี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้า รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

การปรับตัวของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem โดยผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยควรร่วมมือกับพันธมิตรในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐควรออกมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ข้อกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Content) ในผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ส่วนภาคการเงินควรให้คำปรึกษา

รวมทั้งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวสู่ความยั่งยืน เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loans) และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.