รัฐบาลจัดยิ่งใหญ่ พิธีสืบพระชะตาหลวง ตระการตา ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ เฉลิมพระเกียรติฯ ในหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร และทรงรับพิธีสืบพระชะตาหลวง เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย กรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพาทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฆราวาส ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยจะมีการจัดพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์หลวงและแห่เครื่องราชสักการะจากมณฑลพิธีท้องสนามหลวงไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในเวลา 12.00 น.
สำหรับพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัวเป็นการถวายไม้ค้ำโพธิ์ โดยการนำไม้ค้ำโพธิ์ จำนวน 73 ต้นเท่าพระชนมายุอันเป็นโบราณราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมาโดยแบ่งเป็นไม้แก่นซึ่งประกอบ ด้วยไม้มงคล 9 ต้น และไม้ไผ่อีก 64 ต้น โดยวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รูปแบบของขบวนจะเป็นแบบดั้งเดิมที่มีอุบาสกอุบาสิกาเชิญเครื่องสักการบูชาพร้อมทั้งอัญเชิญเสลี่ยงพระสงฆ์ที่เข้าร่วมพิธีนำหน้าติดตามด้วยขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ทั้ง 73ต้น พร้อมทั้งช่างฟ้อน วงฉิ่งฉาบกรับโหม่งและวงสะล้อซอซึงตามประเพณี แห่ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ลานโพธิ์ลังกา)
จากนั้นในเวลา 14.00 น. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ประธานองคมนตรี จะเป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีสืบพระชะตาหลวงและเชิญไม้ค้ำโพธิ์หลวงไปค้ำถวายรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อเสร็จพิธีจะเคลื่อนขบวนจากลานโพธิ์ลังกา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร ประกอบพิธีถวายเครื่องสักการะแบบล้านนา
นางยุพากล่าวว่า นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สำหรับพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ คือ การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2508, การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 มกราคม 2528, การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 และครั้งล่าสุด การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งนับพระชนมวารได้ 26,469 วัน ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักรเพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและชาวไทย
ปลัดสำนักนายกฯกล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดพิธีการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งนี้ตรงกับวันอังคารที่ 14 มกราคม เวลา 07.30 น. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เวลา 09.00 น. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ ณ ท้องสนามหลวง ขณะที่ส่วนภูมิภาค จัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม ตลอดเดือนมกราคมนี้รัฐบาลกำหนดจัด 7 กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่
1.การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม ณ สวนสราญรมย์และวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นประเพณีมงคลชาวล้านนา ประกอบด้วยพิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ สาธิตภูมิปัญญาการจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี สาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา จัดโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.)
2.การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จ.อุทัยธานี โดยกรมศิลปากร วัดตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย บริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
3.กรมศิลปากรจัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ วันที่ 14 มกราคม ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
4.การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
5.การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถาน อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ วัดพระเชตุพนฯ วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดราชาธิวาส วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศน์ วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จ.อยุธยา และ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมือง
6.ทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สำหรับวัดไทยในต่างประเทศจัดพิธีตามเหมาะสม และ
7.จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เป็นไม้มงคลหายากควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ ตะเคียนทอง พิกุล อินจัน ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“ขอเชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีเหลือง เฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้” นางยุพากล่าว