ถือเป็นกลุ่มทุนไทยที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์มาช้านานสำหรับกลุ่มสยามกลการ ต้องบอกว่า วันนี้ผ่านร้อนผ่านหนาว เปลี่ยนผ่านจากยุคคุณปู่ (ดร.ถาวร พรประภา) มาสู่ยุคคุณพ่อ (ดร.พรเทพ พรประภา) จนวันนี้ผ่องถ่ายเข้าสู่รุ่นหลาน (ประณิธาน-ประกาสิทธิ์-ประนัปดา พรประภา) ต้องบอกว่า อาณาจักรสยามกลการยังคงสยายปีกไปใน 6 กลุ่มธุรกิจหลัก หนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในมือกลุ่มสยามกลการมาอย่างยาวนาน คือ ในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (ดีลเลอร์) นิสสัน รายใหญ่
วันนี้ต้องปรับกระบวนทัพ เพื่อรับกับ “คลื่นความเปลี่ยนแปลง” ที่ถาโถม
ภายใต้ความดูแลของ “เอ็มดี” มืออาชีพ มาดสุขุม “เกริก เกียรติเฟื่องฟู” กรรมการผู้จัดการ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน บริษัท สยามนิสสันเซลส์ จำกัด พร้อมกำหนดเป้าหมาย สร้างความแข็งแรง เพื่อทวงคืนเบอร์หนึ่งดีลเลอร์นิสสัน ไปติดตามกัน
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมา มีการแข่งขันที่รุนแรง ตลาดหดตัวค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อหดหาย ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ส่งผลกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
การเข้ามาทำตลาดของค่ายรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ยังคงรุนแรงรวมถึงการเข้ามาของรถยนต์จากจีน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งค่ายรถยนต์ และตัวแทนจำหน่าย ต้องปรับตัวกันอย่างเร่งด่วนเพื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
ปัจจุบัน สยามนิสสันเซลส์ มี 2 บริษัทที่ต้องดูแล คือ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน คือ บริษัท สยามนิสสันเซลส์ จำกัด และบริษัท สยามนิสสัน บอดี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทดูแลหลังการขายศูนย์ซ่อมสี และตัวถัง
สยามนิสสันเซลส์ ปัจจุบันเพิ่งได้รับโชว์รูมสาขาหนองแขม และสาขาล่าสุดรามคำแหง กลับคืนมาเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน จากก่อนหน้านี้ สยามนิสสันเซลส์มีโชว์รูมและศูนย์บริการนิสสันทั้งสิ้น 14 แห่ง และได้มีการปล่อยสิทธิการขายและให้เช่าพื้นที่โชว์รูมบางสาขาไป เหลือโชว์รูมและศูนย์บริการอยู่เพียง 7 สาขาที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ได้แก่ สาขาวิภาวดี, ลาดพร้าว 101, ประเวศ, หนองแขม, สุขุมวิท 101 (ปุณณวิถี), ถนนเพชรบุรี และรามคำแหง
อนาคตยังมีโชว์รูมที่เหลืออีกเมื่อหมดสัญญาอาจจะมีการคืนพื้นที่ บริษัทมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพัฒนาพื้นที่โชว์รูมต่าง ๆ เพื่อเป็นโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ต่อเนื่อง หรืออาจจะมีการเริ่มธุรกิจอื่น ๆ เข้าพัฒนาพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
อาจจะมีการพัฒนาเป็น “คอมมิวนิตี้มอลล์” เล็ก ๆ และดึงแบรนด์พันธมิตรต่าง ๆ ที่เป็นแม็กเนตมาเสริม อยู่ในพื้นที่ของโชว์รูมและศูนย์บริการ เพื่อให้สามารถดูแลลูกค้านิสสันในพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึงและแข็งแกร่งเพิ่ม
เรามองว่าการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ “สามารถนำไข่ไปใส่ตะกร้าหลาย ๆ ใบ”
ส่วนตัวหลังจากที่เข้ามารับหน้าเสื่อดูแล “สยามนิสสันเซลส์” มาได้เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ลำบากใจจริง ๆ คือ “ยอดขาย” จากสภาพตลาดและสยามนิสสันเองถือว่าไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์ใหม่
หนึ่งในนั้นคือการพยายามหาช่องทางในการขายอะไหล่ให้มากขึ้น โดยเราใช้ประสบการณ์จากการขายอะไหล่ไปยังยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สมัยที่ดูแลแบตเตอรี่ยีเอส มาปรับใช้กับสยามนิสสัน เพื่อขยายธุรกิจอะไหล่ให้ออกไปยังผู้จำหน่ายต่าง ๆ
อะไหล่ของนิสสัน เราเองก็ใช้เพื่อซ่อมอยู่แล้ว แต่มีโอกาสให้สามารถขยายตลาดนี้ได้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ ดังนั้น ปีที่ผ่านมาได้ขยายในส่วนของงานจำหน่ายอะไหล่ให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งในส่วนของโชว์รูมและร้านค้า เพื่อเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบันที่ทำอยู่ และบริษัทมีรายได้จากธุรกิจอะไหล่สูงถึง 100 ล้านบาท แบ่งเป็นการจำหน่ายอะไหล่ผ่านโชว์รูม 40 ล้านบาท และจำหน่ายผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอีก 70 ล้านบาท
และอนาคตคาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 50/50
สิ่งที่เราทำมาต่อเนื่องคือการสร้างความแข็งแกร่งและสุขภาพที่ดีในส่วนของการบริหารและขับเคลื่อนองค์กร สร้างวัฒนธรรมองค์กร ภายใต้แนวคิด ONE TEAM เพื่อรีดประสิทธิภาพของบุคลากรออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด
เช่น งานขาย-บริการหลังการขาย จากเดิมที่ใช้พนักงานคนละฝ่าย เราก็จะรวมเพื่อให้พนักงานหนึ่งคนสามารถดูแลลูกค้าได้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือระดับผู้จัดการสาขา ก็ทำหน้าที่ได้ 2 อย่าง ทำงานให้เป็น “หนึ่งเดียว” มากขึ้น
รวมถึงการสื่อสารต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่มีบิดเบี้ยวระหว่างทาง เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศที่อยากให้เป็น คือเราคิดอะไร เราทำอย่างนั้น ไม่มีดราม่าในองค์กร โปร่งใสทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินงาน เพื่อให้พนักงาน 330 คน ทำงานได้อย่างมีความสุข รวมถึงพนักงานซับคอนแทร็กต์ด้วย
สยามนิสสันเซลส์ ในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันรายใหญ่ ปีนี้จะพยายามเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้เพิ่มเป็น 12-15% จากยอดขายรถยนต์นิสสันทั่วประเทศ หรือมียอดขายไม่น้อยกว่า 1,200 คัน
จากปี 2567 ที่ผ่านมา มียอดขายไปกว่า 1,000 คัน เป็นผู้แทนจำหน่ายที่มียอดขายสูงสุดอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่ง 5% ของยอดขายนิสสันทั้งปี
ขณะที่รายได้รวมของบริษัทปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ 1,300 ล้านบาท และรายได้จากศูนย์บริการหลังการขายอีก 700 ล้านบาท
ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ดีลเลอร์มีการปิดตัวลงไปค่อนข้างเยอะ สยามนิสสันฯมองว่าตรงนี้คือโอกาส เนื่องจากมีผู้ให้บริการงานหลังการขายน้อยลง ทำให้ลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการกับสยามนิสสันเซลส์เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันที่บริษัทได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้า และความเชื่อมั่นในฐานะที่เป็นดีลเลอร์รายใหญ่ ที่ดูแลลูกค้ามาอย่างยาวนาน และในฐานะบริษัทในเครือสยามกลการ ที่เป็นพาร์ตเนอร์หลักของนิสสันประเทศไทยด้วย และเรามุ่งมั่นที่จะทำตลาดรถยนต์นิสสัน และดูแลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 50,000 ราย จากโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์นิสสัน ที่มีทั้งสิ้น 7 สาขาที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
อนาคตเราน่าจะได้โชว์รูมรถยนต์นิสสันที่ “ปล่อยเช่า” ไปกลับคืนมา เนื่องจากหมดสัญญา เราจะใช้โอกาสตรงนี้ “วิ่งสวนทางตลาด” และผมเชื่อว่า เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
สำหรับดีลเลอร์ที่ปิดไป ไม่มีใครทำหรือดูแลงานบริการหลังการขาย เราเอามาทำให้หมด และจากสถิติแม้ว่ารถยนต์จะเข้าซ่อมตามศูนย์บริการอื่น ๆ ลดลง
แต่สำหรับตัวเลขผู้เข้าใช้บริการงานซ่อม และงานสีตัวถังของสยามนิสสันเซลส์มีเพิ่มขึ้น
และนี่คือหนึ่งในโอกาสของสยามนิสสันฯ
“เราก็กำลังรอการขับเคลื่อน จาก นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ที่จะมีสินค้าใหม่ ๆ ออกมานำเสนอ และขับเคลื่อนดีลเลอร์ให้เดินไปต่อได้อย่างมั่นคง หลังจากรถนิสสัน เซเรน่า มาเป็นทัพแรกไปแล้ว”