ผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน เรียกร้องความเป็นธรรม คดีกรรมการพิรงรอง ถูกทรูไอดี ฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ ปมออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัล
สภาองค์กรผู้บริโภค เผยว่า จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (6 กุมภาพันธ์) ในคดีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชน เห็นว่า เป็นคดีตัวอย่างที่ ‘กสทช.’ ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่ถูกฟ้องร้อง
สืบเนื่องจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากพบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันทรูไอดี มีการโฆษณาแทรกในช่องทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัทน้าทรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดี ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง
ต่อมา คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และสำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ให้ตรวจสอบว่า มีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตามหลัก “มัสแครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าว ไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัททรูดิจิทัลฯ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัททรูดิจิทัลฯ อ้างว่า การออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้อง กสทช. พิรงรอง รามสูต
ในคำร้องของบริษัททรูดิจิทัลฯ อ้างว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจทำการระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน โดยในคำร้องได้อ้างว่าทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือ การให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)
อย่างไรก็ตาม กสทช. พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘แทรกโฆษณา’ ในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์ แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบของ กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าว มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ
นักวิชาการและอาจารย์ด้านสื่อสาร ชี้ทำงานด้วยความสุจริต
ทางด้านนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พร้อมใจกันติด #saveพิรงรอง พร้อมล่ารายชื่อให้ถึง 10,000 รายชื่อ เพื่อส่งกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่และให้ได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินคดีครั้งนี้
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรรางศุ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คกล่าวถึงกรณีนี้ว่า “ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่รับผิดชอบด้วยความสุจริตจะกลายเป็นความผิดทางอาญาแล้วไซร้ ในระยะยาว จะเหลือใครทำงานให้กับส่วนรวม”
ทางด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้นำทางความคิดวงในการธุรกิจ อดีตผู้บริหารระดับสูงของดีแทค ที่ปัจจุบันควบรวมโดยทรู โพสต์ว่า “สะเทือนความรู้สึกมากและน่าจะมีผลกระทบในวงกว้างแน่”
อดีต กรรมการ กสทช.และสื่อมวลชน ส่งกำลังใจ
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นำเสนอข่าวผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ กรรมกรข่าว ชวนจับตาดูการพิจารณาคดีดังกล่าว หลัง “พิรงรอง” ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
ชี้ชะตา! ลุ้นศาลอาญาทุจริตฯ หลุดตำแหน่งหรือไม่ ?
คำพิพากษาของศาลในวันพรุ่งนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) หาก กสทช. พิรงรอง ถูกตัดสินว่ามีความผิดและไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว ระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กสทช. ทันที
อนึ่ง ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคุณสมบัติของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประก0อบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช.ว่า เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
อย่างไรก็ตาม ก่อนนี้ ในเดือน เมษายน 2567 บริษัททรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นเคยคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ‘กสทช.พิรงรอง’ ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และ ประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง