เข้าสู่ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ. วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568
การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 76 จังหวัดครั้งนี้ จะมี 47 จังหวัดที่เลือกนายก อบจ.ควบคู่ไปพร้อมกับการเลือก ส.อบจ.
ส่วนอีก 29 จังหวัดจะเลือกเพียง ส.อบจ.เท่านั้น ไม่มีการเลือกนายก อบจ. เพราะก่อนหน้าจังหวัดเหล่านี้บรรดานายก อบจ.ได้ลาออกก่อนครบวาระ 4 ปีในวันที่ 19 ธ.ค.2567 และมีการจัดเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับ 47 จังหวัดที่ต้องเลือกนายก อบจ. ได้แก่ 1.กระบี่ 2.จันทบุรี 3.ฉะเชิงเทรา 4.ชลบุรี 5.เชียงราย 6.เชียงใหม่ 7.ตรัง 8.ตราด 9.นครนายก 10.นครปฐม 11.นครพนม 12.นครราชสีมา 13.นนทบุรี 14.นราธิวาส 15.น่าน
16.บึงกาฬ 17.บุรีรัมย์ 18.ประจวบคีรีขันธ์ 19.ปราจีนบุรี 20.ปัตตานี 21.พังงา 22.พัทลุง 23.พิจิตร 24.แพร่ 25.ภูเก็ต 26.มหาสารคาม 27.มุกดาหาร 28.แม่ฮ่องสอน 29.ยะลา 30.ระยอง 31.ลพบุรี 32.ลำปาง 33.ลำพูน
34.ศรีสะเกษ 35.สกลนคร 36.สงขลา 37.สตูล 38.สมุทรปราการ 39.สมุทรสงคราม 40.สมุทรสาคร 41.สระบุรี 42.สิงห์บุรี 43.สุพรรณบุรี 44.สุราษฎร์ธานี 45.หนองคาย 46.หนองบัวลำภู และ 47.อำนาจเจริญ
ในจำนวนนี้หลายจังหวัดถูกกำหนดเป็นพื้นที่ต่อสู้ระหว่างพรรคใหญ่ที่อยู่กันคนละฝั่งการเมืองระดับชาติ คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาชน รวมทั้งบ้านใหญ่แต่ละจังหวัดที่ส่งคนในตระกูลลงชิงชัย
ยิ่งเข้าใกล้โค้งสุดท้าย การหาเสียงยิ่งเข้มข้น
พรรคสีส้ม แม้ที่ผ่านมาจะไม่ประสบความสำเร็จในสนามท้องถิ่นเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ท้อ
หัวหน้าเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และอดีตหัวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แยกกันเดินสายลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียงเต็มสูบ ชูนโยบายพัฒนาท้องถิ่น และจุดแข็งความเป็นคนรุ่นใหม่ อาสาเข้ามาทำงาน
ขณะที่พรรคเพื่อไทย นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม ครั้งแรก เมื่อ 12 ม.ค. ชาวบ้านแห่ต้อนรับล้นหลาม
ถัดจากนั้น 18-20 ม.ค. เป็นคิวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงระดับพรีเมียม จัดเต็ม 3 วัน 9 เวที 4 จังหวัด นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และมหาสารคาม
“ต้องมาเยี่ยมพี่น้องชาวอีสานให้ทั่วถึง แนวโน้มเท่าที่ดูแล้วน่าจะชนะเกือบหมด จากที่ทำโพลแล้วก็ดูดี น่าจะชนะเยอะ—ที่ส่งในนามพรรคเพื่อไทย ดูแล้วน่าจะชนะทุกที่” ทักษิณกล่าวกับผู้สื่อข่าวอย่างมั่นใจ
แต่ก็ถือเป็นแค่ความมั่นใจส่วนตัว ผลลัพธ์จริงต้องรอลุ้นหลังวันที่ 1 ก.พ.
มันฯ มือเสือ