การจิบชาสักถ้วยเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยสุขภาพโดยรวมและจิตใจแจ่มใสขึ้น อีกทั้งคาเฟอีนในกาแฟยังช่วยเพิ่มพลังงานได้ แต่ไม่ทำให้กระสับกระส่ายเหมือนการดื่มกาแฟ และชายังช่วยเรื่องการย่อยอาหารและเผาผลาญพลังงานได้ดีสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก แต่ชาก็อาจทำให้ร่างกายได้รับ “ไมโครพลาสติก” ได้ด้วยเช่นกัน
“ถุงชา” มีอนุภาค “ไมโครพลาสติก” จำนวนมากปะปนอยู่ เมื่ออนุภาคเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับน้ำร้อน ไมโครพลาสติกจะหลุดออกถูกปล่อยออกมาในชา และเมื่อเราดื่มชาเข้าไป มันก็จะนำพาไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปด้วยเช่นกัน
อาหาร บรรจุภัณฑ์ และเครื่องครัวเป็นแหล่งสำคัญของมลพิษจากพลาสติก แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร พวกเขารู้เพียงว่าสารเหล่านี้ เป็น “สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ” (endocrine disrupting compounds: EDCs) ซึ่งเชื่อว่ารบกวนฮอร์โมนของมนุษย์และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งบาร์เซโลนา (UAB) ประเทศสเปน ศึกษานาโนพลาสติกที่มีขนาด 1-1,000 นาโนเมตร ซึ่งปล่อยออกมาจากถุงชา 3 ชนิด ได้แก่ พอลิเมอร์ที่เรียกว่า โพลิโพรพิลีน ไนลอน-6 และเซลลูโลส พบว่า ถุงชาที่วางจำหน่ายทั่วไปปล่อยอนุภาคพลาสติกจำนวนมหาศาลลงในน้ำร้อนเมื่อชง โดยถุงชาที่มีโพลิโพรพิลีนปล่อยอนุภาคพลาสติกประมาณ 1.2 พันล้านอนุภาคต่อชาหนึ่งหยดหรือหนึ่งมิลลิลิตร
ส่วนถุงชาที่มีเซลลูโลสปล่อยอนุภาคพลาสติก 135 ล้านอนุภาคต่อหยด และไนลอน-6 ปล่อยอนุภาคพลาสติก 8.18 ล้านอนุภาคต่อหยด
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ย้อมสีอนุภาคเหล่านี้และสัมผัสกับเซลล์ต่าง ๆ ในลำไส้ของมนุษย์ เพื่อติดตามว่าอนุภาคเหล่านี้อาจโต้ตอบกันภายในร่างกายอย่างไรเมื่อกลืนเข้าไป หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง เซลล์ย่อยชนิดหนึ่งที่ผลิตเมือกในลำไส้ดูดซับไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในปริมาณมาก โดยพบว่า ในบางส่วนของนิวเคลียสเซลล์ ซึ่งเป็นที่เก็บสารพันธุกรรม มีพลาสติกปะปนอยู่
ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า เมือกย่อยอาหารอาจมีบทบาทสำคัญในการดูดซับไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ก่อนที่จะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดและที่อื่น ๆ ในร่างกาย
ริคาร์โด มาร์กอส ดาวเดอร์ หนึ่งในผู้เขียนผลการศึกษาจาก UAB บอกว่า นาโนพลาสติกสามารถผ่านเมมเบรนที่ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดได้อย่างง่ายได้ จากนั้นจึงไปส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในเซลล์
ยิ่งไปกว่านั้นนาโนพลาสติกสามารถทำลายไมโตคอนเดรีย ซึ่งเปรียบได้กับ “โรงงานผลิตพลังงาน” ของเซลล์แต่ละเซลล์ และดีเอ็นเอ โดยบุคคลที่สัมผัสกับไมโครพลาสติกและนานาพลาสติกบ่อยครั้ง จากบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่ม เมื่อสะสมเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพ รวมถึงการเกิดมะเร็ง
“ข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ยิ่งพลาสติกขนาดเล็กลงเท่าใด ก็จะสามารถดูดซึม เข้าไปในเซลล์ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งก็ยิ่งสูงขึ้น” ดาวเดอร์กล่าว
ดาวเวอร์กล่าวเสริมว่า “มนุษย์สัมผัสกับพลาสติกระดับไมโครและนาโนได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่พิเศษ เพื่อให้ได้รับสารพิษ เพียงแค่ชงชาสักถ้วย ก็เพียงพอแล้วที่จะกลืนอนุภาคขนาดนาโนหรือพลาสติกขนาดนาโนเข้าไปหลายล้านอนุภาคหรือมากกว่านั้น
ถุงชาเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการรับไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ในแต่ละวันมนุษย์สามารถสัมผัสไมโครพลาสติกได้อีกหลายพันวิธี
ทีมวิจัยใช้เทคนิคล้ำสมัยมากมายในการติดตามไมโครพลาสติก รวมถึงตรวจสอบโครงสร้าง ขนาด และพฤติกรรมของอนุภาคได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เทคโนโลยีอินฟราเรด เลเซอร์ และการวิเคราะห์การติดตามอนุภาคขนาดนาโน
“เราสามารถระบุลักษณะของสารมลพิษเหล่านี้ได้ด้วยเทคนิคที่ล้ำสมัย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์” อัลบา กราเซีย นักวิจัยของ UAB อธิบาย
นักวิจัยหวังว่า ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการศึกษานี้ ควรนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับนโยบายด้านกฎระเบียบ สำหรับการมุ่งลดการปนเปื้อนของพลาสติกในวัสดุที่สัมผัสอาหารให้น้อยที่สุด และปกป้องสุขภาพของประชาชน และช่วยควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
พร้อมกล่าวเสริมว่า การมีอยู่ของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกแสดงให้เห็นว่า เราอาจไม่สามารถกำจัดมลพิษจากพลาสติกให้หมดสิ้นไป และจะทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพจากพลาสติกในสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม การระมัดระวังการสัมผัสไมโครพลาสติกจะเป็นสิ่งที่ดี และถุงชาทำจากวัสดุหลายประเภท พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นได้ เช่น ไนลอนและโพลีโพรพิลีน บางแบรนด์ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เช่น กรดโพลีแลกติก ไปจนถึงทำจากกระดาษ ซึ่งทำมาจากเส้นใยพืช เช่น เซลลูโลส ไม้ และป่าน
จากการวิจัยของเฮลลี อี. แฮมป์สัน พบว่า ถุงชาที่ทำจากกระดาษจะทิ้งไมโครพลาสติกน้อยกว่า (หรือไม่มีเลย) แต่การจะระบุได้ว่าถุงชาแบรนด์ใดทำมาจากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป
หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ติดต่อบริษัทชา 12 แห่ง แต่มี 6 แห่งที่ตอบกลับมา ได้แก่ Bigelow, Lipton, Twinings, Yogi, Traditional Medicinals และ Stash ยืนยันว่าถุงชาของพวกเขาไม่มีไมโครพลาสติก เนื่องจากส่วนใหญ่ทำมาจากกระดาษหรือวัสดุจากพืชอื่น ๆ
ทั้งนี้ ดร.แฮมป์สัน กล่าวว่าแม้แต่ถุงชากระดาษก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีพลาสติก บางชนิดอาจปิดผนึกด้วยพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ เช่น โพลีโพรพีลีน หรือมีพลาสติกเคลือบบนเชือก แต่อย่างน้อยที่สุด การเลือกใช้ถุงชาที่ไม่ได้ผลิตจากพลาสติก 100% ก็สามารถช่วยลดปริมาณพลาสติกเข้าสู่ร่างกายลงไปได้
ที่มา: Earth, Newsweek, South China Morning Post, The New York Times