กรุงไทย-บีบีแอล-ไทยเครดิต โชว์ผลประกอบการปี 67 อู้ฟู่ กำไรรวมกว่า 9 หมื่นล. ปลื้มคุมเอ็นพีแอลได้ดี
เมื่อวันที่ 22 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ธนาคารพาณิชย์ทยอยรายงานผลประกอบการประจำปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
กรุงไทยกำไรกว่า 4.3 หมื่นล.
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังต่ำกว่าศักยภาพ และขยายตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ และมาตรการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงภาคการส่งออกที่เติบโตเกิดคาดการณ์ จากการเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ อีกทั้ง ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับการตีตลาดของคู่แข่งต่างชาติ ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ธุรกิจ SME บางส่วนยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย
โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 43,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ถ้าไม่รวมรายการตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ที่เกิดขึ้นไตรมาส 4 ปี 2566 (กำไรสุทธิเติบโตร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับปี2566) ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมบริหารจัดการ Portfolio อย่างสมดุล ให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ และรักษา Coverage ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีสินเชื่อที่เติบโตร้อยละ 4.7 ส่วนใหญ่จากการขยายตัวในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของธนาคาร สินเชื่อภาครัฐ และการสนับสนุนนโยบายรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการจัดการหนี้ ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ6.4 ส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารและบริษัทย่อย ผลิตภัณฑ์ธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงรายได้จากหนี้สูญรับคืนสะท้อนนโยบายเชิงรุกในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการติดตามหนี้และการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร มี Cost to Income ratio อยู่ที่ร้อยละ 43.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ขยายตัวจากการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต
นายผยงกล่าวว่า ธนาคารยังคงบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับควบคุมได้ดีที่ 95,065 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากสิ้นปี 2566 และมี NPLs Ratio ร้อยละ 2.99 ลดลงจากสิ้นปี2566 ให้ความสำคัญกับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ รักษาCoverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 188.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 181.3 จากสิ้นปี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งนี้ผลประกอบการในไตรมาส 4/2567 ได้สะท้อนผลกระทบของลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการและมีการแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วนตามแผนฟื้นฟูดังกล่าวแล้ว
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4/2567 เทียบกับไตรมาส 4/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ10.475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 หากไม่รวมการตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ที่เกิดขึ้นไตรมาส 4/2566 (กำไรสุทธิเติบโตร้อยละ 71.4เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566) สินเชื่อเติบโตร้อยละ 4.7จากการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มยุทธศาสตร์ บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ มี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.4 เทียบกับไตรมาส 3/2567 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงร้อยละ 5.7โดยหลักจากรายได้จากการดำเนินการลดลง จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและจากรายการเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ซึ่งสะท้อนภาวะตลาด ในขณะที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 5.2รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ชี้ปี68ยังท้าทายคาดศก.โต 2.7%
นายผยงกล่าวว่า สำหรับปี 2568 เป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัย Krungthai Compass ประเมินเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ซึ่งยังคงต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้ง ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าระลอกใหม่ จากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากภาวะ Oversupply ของสินค้าจีน และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยน (Inflection Point) ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วน
ธนาคารกรุงเทพรกำไรกวา 45,211 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะเป็นแรงส่งที่สำคัญสำหรับปี 2568 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ มาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิจำนวน 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อและอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.06 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่าย เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายทางการตลาด โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 48.0 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2567 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับปี 2567 มีจำนวน 34,838 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,693,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8
จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 334.3 เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
มีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 3,169,654 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.5 จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 85.0 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง ของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ร้อยละ 17.0 และร้อยละ 16.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ไทยเครดิตกำไรทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,624.0 ล้านบาท
ด้านธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2567 ด้วยกำไรสุทธิที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,192.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งแม้เผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกำไรสุทธิของธนาคารตลอดปี 2567 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,624.0 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของกำไรในครั้งนี้คือการขยายตัวของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็ง โดยยอดเงินให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 163,158.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในสัดส่วนร้อยละ 10.5 อันเป็นผลจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ โดยรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 39.9 ในปี 2567 ส่วนอัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ในปีเดียวกันยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.6
จากผลการดำเนินงานในกลุ่มสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) มีอัตราการเติบโตร้อยละ 12.8 สินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักประกันขยายตัวร้อยละ 14.4 และสินเชื่อบุคคลมีอัตราเติบโตโดดเด่นที่ร้อยละ 114.8 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบและการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยง ธนาคารยังคงรักษาระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (%NPL) ไว้ที่ร้อยละ 4.4 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตามการคาดการณ์ของธนาคาร ขณะที่อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อเฉลี่ย (%Credit cost) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากร้อยละ 2.94 เป็นร้อยละ 2.65
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า สำหรับปี 2568 ธนาคารยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระดับเลขสองหลัก โดยคาดว่าอัตราส่วนต่างรายได้อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (%NIM) จะอยู่ในช่วงร้อยละ 8.5-9.0 พร้อมรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และควบคุมอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (%NPLs) ให้น้อยกว่าร้อยละ 4.5
กลยุทธ์สำคัญที่ธนาคารใช้ขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การขยายสินเชื่อในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก 2) การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 3) การพัฒนาธุรกิจใหม่ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระยะยาวของธนาคาร เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต