แพทย์ เผยผู้ป่วยจากฝุ่น 1 ปี สะสม 1 ล้านคน! ห่วง PM2.5 จับกับสารเคมีก่อมะเร็งปอด
GH News January 23, 2025 02:44 PM

เมื่อวันที่ 23 มกราคม พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM2.5 ว่า ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นสะสมตั้งแต่ ม.ค.2567 จนถึง ม.ค.2568 มีการรายงานผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังรวมกันประมาณ 1 ล้านราย โดยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบมากที่สุดราว 2 แสนราย ซึ่งพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นมาแล้วจะส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น เกิดการอักเสบของเส้นเลือด หากไม่มีฝุ่นมาทำให้ระคายก็อาจจะหายได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือหอบหืดอยู่แล้ว ก็อาจส่งผลให้รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องสารเคมีอื่นๆ ที่เมื่อไปจับกับฝุ่นแล้วอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพได้ เช่น โรคมะเร็งปอด เพราะฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าไปได้ถึงถุงลมในปอด

“ฝุ่น PM2.5 ทำลายเซลล์หลอดเลือดโดยตรง ที่เราเห็นมีผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ก็เพราะว่าฝุ่นเข้าทำลายผนังเส้นเลือด ทำให้ไม่แข็งแรง หรือโรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง เพราะฝุ่นเข้าไปทำให้เส้นเลือดสมองไม่แข็งแรง ทำให้อุดตันได้ง่าย” พญ.ฉันทนา กล่าว

พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ตนมีความกังวลเรื่องของมะเร็งปอดที่มาจากฝุ่น PM2.5 แต่ยังต้องเก็บข้อมูลต่อในระยะยาว ทั้งนี้ มีตัวอย่างในหลายประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในไทยเองก็พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดทั้งที่มีประวัติสุขภาพที่ดี นั่นอาจเป็นเรื่องของฝุ่นเป็นหลัก

เมื่อถามถึงสารพิษที่มาจากการเผาไหม้แล้วมารวมกับฝุ่น PM2.5 จนก่ออันตรายถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ การเผาในที่โล่ง ซึ่งพบมากที่สุดในตอนนี้ ต่อมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง โดยสารพิษที่น่ากลัวที่สุดเมื่อมาอยู่กับฝุ่น PM2.5 คือ สารสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) หรือ PAHs โดยเฉพาะการเผาไหม้ที่เกิดจากการเผายาง ส่วนเรื่องการเผาในที่โล่ง มักจะเป็นการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดสาร PAHs เช่นกัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.