“สุริยะ” เปิดแผน3ระยะ รุกแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขู่ฟันผู้กระทำผิดตามกฎหมายทันที
GH News January 24, 2025 08:09 PM

“สุริยะ” เปิดแผน3ระยะ รุกแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำชับทุกหน่วยเฝ้าติดตามใกล้ชิด-ตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะ-รถร่วมบริการ-รถบรรทุก อย่างละเอียด หากพบผู้กระทำผิดพร้อมลงดาบตามกฎหมายทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในวันนี้( 24 มกราคม 2568 ) ได้เข้าลงพื้นที่ ท่าเรือกรุงเทพ แขวงคลองเตย เขตคลองเตยกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามมาตรการ และ ตรวจควันดำรถบรรทุก สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครอยู่สภาวะวิกฤต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขปัญหาระยะสัันอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้บริเวณ ท่าเรือกรุงเทพ เป็นจุดที่ มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้า - ออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เน้นย้ำกับผู้ประกอบการ และผู้ขับรถบรรทุกทุกราย ให้ดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงรถบรรทุกที่มีค่าควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการพ่นข้อความห้ามใช้ทันที และให้ผู้ขับรถนำรถไปแก้ไขจึงจะนำรถมาใช้งานได้

นายสุริยะ กล่าวต่อวา ทั้งนี้ได้สั่งการให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดชุดเฝ้าระวังออกตรวจสอบค่าควันดำจากรถโดยสารสาธารณะ รถร่วมบริการ รถบรรทุก และยานพาหนะที่มีการตกแต่งเครื่องยนต์ (รถกระบะแต่งซิ่ง) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในที่มีค่า PM 2.5 สูง โดยได้ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครในการลงพื้นที่ตรวจฯ และจัดชุดผู้ตรวจการขนส่งทางบก จำนวน 16 ชุด ออกตรวจในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พ่นข้อความ “ห้ามใช้” ในกรณีมีค่าการปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน โดยผู้ประกอบการและเจ้าของรถทุกคันที่ถูกพ่นห้ามใช้ ต้องนำรถไปแก้ไขและนำรถเข้ารับการตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่ง หากฝ่าฝืนใช้รถโดยที่มีคำสั่งห้ามใช้ มีความผิดตามกฎหมาย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบรถบรรทุก และรถโดยสาร ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามมาตรการลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยทางกรมการขนส่งทางบก ได้รายงานว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค.68 - 23 ม.ค.68 มียอดตรวจสะสมรวม 30,401 คัน พบมีค่าควันดำเกินมาตรฐานและดำเนินการพ่นห้ามใช้รถแล้ว 809 คัน

อีกทั้งยังได้กำชับและเตือนผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) ของกรุงเทพมหานคร ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก จำนวน 9 เขต ได้แก่ ดุสิต พญาไท พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ คลองสาน สาทร ปทุมวัน บางรัก เพื่อลดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่น และมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 สูง หากฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ณ อู่รถ ขสมก. ทั้ง 8 เขตการเดินรถ จำนวน 21 แห่ง รวมถึง รถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร, เอกมัย, สายใต้) โดยกรมการขนส่งทางบกได้บูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน, บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 จะแบ่งได้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือนเป็นประจำ มาตรการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน มาตรการแก้ปัญหารถติด และ มาตรการลดฝุ่น เป็นต้น

โดยต่อจากนี้จะดำเนินการตามแผนระยะกลาง โดยจะแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่น เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท จัดทำตั๋วร่วม และ เพิ่ม Park&Ride เป็นต้น 2. เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด เช่น รถโดยสารสาธารณะ NGV-EV รถแท็กซี่และรถสามล้อเครื่อง EV เรือโดยสารสาธารณะEV สนับสนุนการเแลี่ยนรถในหน่วยงานราชการเป็น EV-NGV ตรวจสอบรถของหน่วยงานที่อยู่ในสภาพเก่าที่ใช้งานไม่ได้ให้ปรับเปลี่ยนรถ EV/NGV 3. มาตรการด้านภาษี ได้แก่ สร้างความเข้าใจ Congestion Charge  และ สร้างความเข้าใจ ภาษีมลพิษ รวมถึงปรับภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 4. จำกัดการใช้รถยนต์เก่า โดยการ สร้างความเข้าใจ ภาษีรถเก่า 5. แนวความคิดในการบูรณาการสวัสดิการกับนโยบาย ประกอบด้วย จัดรถ Shutter Bus (รถที่ใช้พลังงานสะอาด) รับ-ส่ง ระหว่างหน่วยงานราชการกับระบบขนส่งสาธารณะ MRT/BTS รวมถึง บัตรรถโดยสารสาธารณะรายเดือนราคาประหยัด และต้องเร่งติดตัง EV Charging Station ในหน่วยงานราชการ

ด้านแผนระยะยาว จะมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1. บังคับใช้มาตรการทางภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง ได้แก่ ระบบ Congestion Charge  , ภาษีมลพิษ , ภาษีรถเก่า และ มาตรการ Travel Demand Management  2. ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ ได้แก่ เปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพจากบริการสินค้าคอนเทนเนอร์เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยวและผู้โดยสารรวมถึง Port City 3. จำกัดการใช้เครื่องดีเซล โดยห้ามใช้เครื่องยนต์ดีเซลใน กทม. ขณะที่ด้าน 4. เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด จากกาเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.