อัด 2,500 ล้านช่วยเอสเอ็มอีปี 68 ก.อุตปล่อยกู้กองทุนประชารัฐแล้ว 1.3 หมื่นราย
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ และสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนเพื่อการปรับปรุงกิจการอย่างเพียงพอ
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีเป้าหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งยกระดับการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตลอดจนการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้กองทุนฯ ไว้ 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างโอกาส ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีผ่านกลไกกองทุนฯ โดยการพัฒนาโครงการสินเชื่อที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ
2. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้ากองทุนเอสเอ็มอีฯ โดยการยกระดับจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กสู่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเพื่อป้องกัน ตลอดจนฟื้นฟูลูกหนี้กองทุนฯ ที่มีความเสี่ยง
3. พัฒนาเครือข่ายกองทุนในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. เสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรในการบริหารงานกองทุนเอสเอ็มอี
สำหรับการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วประมาณ 13,661 ราย วงเงิน 25,649.25 ล้านบาท ซึ่งภายใน ปี 2568 ได้วางแผนที่จะเร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้อีก 2,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนมีการดำเนินการโครงการส่งเสริมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการและขีดความสามารถ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 200 ราย เพิ่มมูลค่าธุรกิจได้กว่า 383 ล้านบาท
โดยหนึ่งในกิจการที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เข้าไปมีส่วนในการยกระดับจนประสบความสำเร็จ คือ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด จังหวัดนครพนม
น.ส.ชบา ศรีสุโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรซ์แฟคทอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯทำธุรกิจแปรรูปข้าวตั้งแต่ปี 2559 โดยเน้นในด้านการผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ ซึ่งมีสารกาบา (GABA) มากกว่าข้าวกล้อง 30 เท่า มีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยรักษาระบบประสาทส่วนกลาง รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันความจำเสื่อม กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโต ชะลอความชรา ป้องกันการสะสมของไขมัน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันมะเร็งลำไส้ จึงเหมาะสำหรับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มบุกเบิกตลาดส่งออกมีผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีความเข้มงวดในด้านคุณภาพ และในด้านสิ่งเจือปนสูงมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับปรุงระบบการผลิต โดยได้ยื่นขอสินเชื่อของโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติสินเชื่อ มาซื้อเครื่องจักรคัดแยกสิ่งเจือปน และปรับปรุงโรงงาน ทำให้สินค้าของบริษัทฯ มีคุณภาพสูงขึ้นจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ในปัจจุบันข้าวฮางงอกอินทรีย์มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นตลาดภายในประเทศ
“กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้ช่วยชุบชีวิตและเป็นที่พึ่งให้กับบริษัทฯได้มาก เพราะให้ข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 % เป็นส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีมีกำลังในการต่อสู้มากขึ้น และผ่อนจ่ายหนี้หมดได้ไว สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” น.ส.ชบา กล่าว
และในปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าที่เสริมสร้างสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าวฮางงอกได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าชาวจีน ในช่วงต้นปี บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มกว่า 4.5 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก ดังนั้น จึงมีแผนที่จะขอกู้ในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องจักร และขยายโรงงาน รวมทั้งการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำข้าวฮางด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มเกษตรกร และสถาบันการศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ เพราะติดขัดในเรื่องสถานที่ ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งเงินทุนที่เข้ามาใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังช่วยบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรและเยาวชนอีกด้วย
“ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตข้าวฮางงอกอินทรีย์ 5 หมื่นแพคต่อเดือน ขณะที่ลูกค้าจีนเพียง 1 ราย ต้องการสินค้า 1-3 แสนแพคต่อเดือน นอกจากนี้ ยังต้องการข้าวฮางงอกเหนียวดำ 200 ตันต่อปี และยังมีลูกค้าต่างชาติทยอยติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยายเครื่องจักรและโรงงาน เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด” น.ส.ชบา กล่าว
ส่วนในอนาคต บริษัทฯ มีแผนในการต่อยอดไปสู่การผลิตข้าวฮางงอกพร้อมรับประทาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตข้าวฮางงอกพร้อมทานดังกล่าว สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน จากการประเมินเบื้องต้นจะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต