พลังธรรมแห่งจินตนาการ เพื่อการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในชายแดนใต้
ความขัดแย้งถึงตายในชายแดนใต้เป็นความขัดแย้งทางสังคมที่ยืดเยื้อมากว่ายี่สิบปีแล้ว เหตุการณ์ปะทุขึ้นจากการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลเพื่อไทยในปัจจุบัน จำนวนเหตุรุนแรงลดลงแต่ยังทรงตัวอยู่ไม่ได้หมดสิ้นไป เคลาเซอวิตซ์ นายพลและนักทฤษฎีการทหารผู้ยิ่งใหญ่เขียนไว้ว่า “สงครามเป็นเพียงความต่อเนื่องของการเมือง ที่ดำเนินโดยวิธีการอื่น” แล้วการเมืองในที่นี้คืออะไร ขอสันนิษฐานว่า ฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐต้องการก่อตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอิสระ บนพื้นฐานแห่งชาติพันธุ์และศาสนาของคนส่วนใหญ่ในชายแดนใต้ ส่วนรัฐบาลต้องการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย ได้มีการลงนามใน “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” โดยตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนบี อาร์ เอ็น (องค์กรหลักในขบวนการเห็นต่างและมีอุดมการณ์ที่ต่างจากรัฐ) โดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียร่วมลงนามในฐานะพยานและผู้อำนวยความสะดวก “ฉันทามติ” ดังกล่าวยังระบุว่าการพูดคุยอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แม้จะมีเสียงจากบางส่วนของขบวนการฯว่า ได้ลงนามไปโดยไม่เต็มใจนัก อย่างไรก็ดี จะเต็มใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่จะอ้างใจคงไม่ได้ ต้องยึดลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก คือยึดกรอบของรัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยเฉพาะมาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เมื่อขบวนการฯยึดตามนี้ ก็เท่ากับว่าข้อขัดแย้งหลักทางการเมืองของการก่อตั้งรัฐอิสระก็ต้องสิ้นสุดลง และการพูดคุยอยู่ในกรอบของการคงรักษาบูรณภาพของดินแดน ฝ่ายความมั่นคงต้องเลิกยกความกลัวว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดนได้แล้ว เพราะมีทั้งความเข้มแข็งทางการทหาร ทั้งการหนุนช่วยจากประชาคมโลก และทั้ง “ฉันทามติ” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ตลอดสิบกว่าปีหลังการลงนามใน “ฉันทามติ” มีการพูดคุยสันติภาพแบบตะกุกตะกัก หาข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ได้ไม่ ขณะนี้ได้พักการพูดคุยมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีแต่ข่าวว่านายภูมิธรรม เวชยชัย ได้กำชับให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ทบทวนดูว่ายุทธศาสตร์ชายแดนใต้ที่ใช้มากว่ายี่สิบปีทำไมจึงไม่ได้ผล และขอให้เสนอยุทธศาสตร์ใหม่ที่สามารถยุติความรุนแรงลงได้ จึงขอถือโอกาสนี้เสนอความคิดเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์” ที่มาจากข้อเขียนของนายจอห์น พอล เลเดอรัค ผู้เป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติด้านสันติภาพ ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “พลังธรรมแห่งจินตนาการ : ศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ” ข้อเสนอของเขาอาจไม่ถูกใจผู้มีอำนาจที่ต้องการคำตอบเร็ว ๆ โดยเขาเสนอว่า เส้นทางสู่สันติภาพไม่ใช่เส้นตรง ไม่มียุทธศาสตร์สำเร็จรูป สันติภาพจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมีการแปลงเปลี่ยน (transform) และถักทอความสัมพันธ์ใหม่ ตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาได้จัดให้มีการแปลและจัดพิมพ์หนังสือของเลเดอรัคเล่มดังกล่าว พร้อมทั้งใช้เป็นฐานคิดในการจัดกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ในที่นี้ขอนำเสนอย่อความแนวคิด “พลังธรรมแห่งจินตนาการ” โดยหวังว่าผู้อ่านและผู้รับผิดชอบในการวางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับชายแดนใต้จะรับฟังบ้าง
เลเดอรัคให้ความสำคัญแก่เรื่องเล่า และใช้เรื่องเล่า 4 เรื่อง เพื่อนำสู่การ “สัมผัส” กับ “ความเรียบง่าย”ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของความซับซ้อน เขายกบทกวีของ เลสลี มาร์มอน ซิลโก เพื่อเน้นความสำคัญของเรื่องเล่าดังนี้
ฉันขอบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องเล่าให้คุณฟัง
เรื่องเล่าไม่ใช่เพียงความบันเทิง
อย่าหลงเชื่อเช่นนั้น
หากเป็นทั้งหมดที่เรามี
ทั้งหมดที่เรามีเพื่อต่อสู้กับโรคภัยและความตาย
คุณจะไม่มีอะไรสักอย่างหากคุณไม่มีเรื่องเล่า
เลสลี มาร์มอน ซิลโก
เรื่องแรกที่เขาเล่ามาจากความขัดแย้งด้วยอาวุธที่ยืดเยื้อที่ประเทศกานา ซึ่งเป็นเช่นนานาประเทศในทวีปแอฟริกาที่ประกอบด้วยหลายชนเผ่า ชาวเผ่าดากอมบัสเป็นมุสลิม มีการปกครองรวมศูนย์ภายใต้หัวหน้าสูงสุด จึงสามารถคบคิดกับชาวยุโรปทั้งในการค้าทาสและการปกครองอาณานิคม เผ่าคอนคอมบัส เป็นเกษตรกรที่ถูกดูแคลนว่า “ปลูกเผือก ปลูกมัน” ไม่มีหัวหน้าใหญ่ พวกเขาเปลี่ยนมาถือคริสต์ จึงมีโอกาสเรียนหนังสือ ทำให้มีสถานภาพทางสังคมดีขึ้น ทั้งสองเผ่าทำร้ายกันมาโดยตลอด ในปี ค.ศ. 1995 มีการฆ่าฟันกัน ซึ่งทำท่าจะขยายวง นักสันติวิธีพยายามอย่างยิ่งจนในที่สุดสามารถเชิญชวนทั้งสองฝ่ายให้ยินยอมมาพบกัน
หัวหน้าสูงสุดชาวดากอมบัสมาพร้อมบริวารและสิ่งบ่งบอกความเป็น “เจ้านาย” มาถึงก็พูดว่า “ดูซิ พวกนี้กระทั่งหัวหน้าก็ไม่มี เพิ่งมาจากไร่จากนา จะหาผู้เฒ่าสักคนมาพบข้าฯก็ยังดี แต่นี่มีแต่เด็กเมื่อวานซืน”
ชายหนุ่มคอนคอมบัสขอพูดบ้าง “คุณพ่อพูดถูกแล้ว เราไม่มีหัวหน้า เราเคารพท่านผู้เป็นหัวหน้าสูงสุด แต่เราไม่มีทางอื่นใดนอกจากใช้ความรุนแรงเพื่อจะได้รับความเคารพ เพื่อจะได้มีหัวหน้าของเราที่จะมาพูดกับท่าน แทนที่จะให้เด็กหนุ่มอย่างผมมาเป็นคนพูด”
หัวหน้าสูงสุดนิ่งอยู่นาน แล้วพูดว่า “ผมมาเพื่อเล่นงานพวกคุณ แต่คุณเรียกผมว่าคุณพ่อ คุณพูดถูก พวกเราที่มีหัวหน้าดูถูกพวกคุณว่าไม่มีหัวหน้า เราไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าคุณเจ็บปวดเพียงใดเพราะถูกดูถูก ลูกเอ๋ย ผมขอโทษ” หนุ่มคอนคอมบัสลุกขึ้น เดินไป คุกเข่า แตะหน้าแข้งด้วยความเคารพ พูดค่อย ๆ ว่า “ขอรับ” การเจรจาดำเนินต่อไป ความขัดแย้งดำรงอยู่ในหลายรูปแบบ แต่นี่คือจุดเปิดแห่งจิตใจที่ช่วยแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง
เลเดอรัคคงอยากบอกพวกเราว่า ความสัมพันธ์คือแก่นกลางความขัดแย้ง ถ้าการมองอีกฝ่ายแปลงเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์และความขัดแย้งก็แปลงเปลี่ยนตาม
เรื่องเล่าเรื่องที่สองเกิดที่อำเภอวาจีร ประเทศเคนยา อยู่ติดชายแดนประเทศเอธิโอเปียและโซมาเลีย เป็นแดนสนธยา ที่ซึ่งชนเผ่าต่าง ๆ ผ่านเข้าออกและสู้รบกัน คืนหนึ่งในปี ค.ศ. 1993 มีการยิงสู้รบกัน เดคาอุ้มลูกสาวที่เพิ่งคลอดไปซ่อนใต้เตียงในขณะที่มีลูกกระสุนยิงผ่านห้องนอนไปมา รุ่งเช้าแม่ของเธอเล่าว่าในปี ค.ศ. 1966 แม่ก็เคยพาเธอไปซ่อนใต้เตียงเช่นเดียวกัน
เพื่อนของเดคาหลายคนมีเรื่องเล่าทำนองนี้ พวกเธอเริ่มร่วมกันตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรวาจีรจะเป็นที่ซึ่งลูกสาวของเธอจะไม่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ซ้ำอีก เริ่มต้นมีผู้หญิงไม่ถึง 12 คนมาคุยกันและตัดสินใจว่า “เราจะเริ่มที่ตลาด” ตลาดต้องเป็นที่ที่ผู้หญิงไม่ว่าจากเผ่าใดสามารถมาซื้อ-มาขายได้อย่างปลอดภัย พวกเธอจัดกลุ่มเฝ้าระวัง พอเริ่มมีเหตุก็จะรีบเข้าไปแก้ปัญหา ไม่นานตลาดก็เป็นเขตสันติภาพ พวกเธอจึงตั้งสมาคมผู้หญิงวาจีรเพื่อสันติภาพขึ้น
แม้ตลาดจะปลอดภัย แต่ความรุนแรงยังกระทบชีวิตของพวกเธอ จึงไปติดต่อผู้เฒ่าของชาวเผ่าต่าง ๆ และเชิญมาประชุมกัน โดยมีผู้เฒ่าเผ่าที่เล็กสุดดำเนินการประชุม เขาถามว่า “ในขณะที่ครอบครัวเราถูกทำลาย ใครเล่าได้ประโยชน์จากการสู้รบนี้” พวกเขาถกเถียงกันและเห็นว่าการสู้รบควรยุติลง จึงร่วมกันตั้งสภาผู้เฒ่าเพื่อสันติภาพขึ้น ผู้เฒ่าเริ่มคุยกับนักรบและจัดการกับการปะทะระหว่างเผ่า
พวกผู้หญิงเริ่มติดต่อข้าราชการอำเภอ และ ส.ส. เชิญพวกเขามาร่วมประชุม ในที่สุดรัฐบาลก็ให้การยอมรับ เนื่องจากนักรบส่วนใหญ่คือเยาวชน ผู้หญิงและผู้เฒ่าจึงไปพูดคุยกับผู้นำเยาวชนในอำเภอ ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็น “เยาวชนเพื่อสันติภาพ” เพื่อไปพูดคุยกับนักรบเผ่าต่าง ๆ ไม่นานพวกเขาพบว่า ปัญหาหลักอยู่ที่การไม่มีงานทำ
พวกเขาจึงไปติดต่อนักธุรกิจ ซึ่งช่วยหางานให้นักรบที่หยุดรบทำ ผู้หญิง ผู้เฒ่า เยาวชน นักธุรกิจ และผู้นำศาสนาในท้องถิ่นรวมกันตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพและการพัฒนาแห่งวาจีร” คณะกรรมการประชุมเป็นประจำ และร่วมกับข้าราชการและผู้นำระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่การหยุดยิงและการปลดอาวุธ
10 ปีให้หลัง คณะกรรมการยังทำงานอยู่ ปัญหาหลากหลายดำรงอยู่ และผู้หญิงก็ยังเฝ้าระวังให้ตลาดของเธอเป็นที่ปลอดภัย
จากเรื่องเล่าเรื่องที่สอง เลเดอรัคคงอยากบอกพวกเราว่า จงสัมผัสหัวใจแห่งความซับซ้อน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ที่อยู่ใกล้ แล้วไปหาคนอื่น ๆ ที่อยู่ไกลสุดเท่าที่คุณจะติดต่อได้
เรื่องเล่าที่สามมาจากประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมีความขัดแย้งรุนแรงมากว่า 60 ปี ประมาณทศวรรษ 1950s ชาวไร่ชาวนาอพยพกันตามลำน้ำการาเร มาทำไร่นากันกลางป่าในพื้นที่ชื่อว่า ลา อินเดีย ต่อมามีการขุดพบน้ำมัน มีการขนส่งโคเคนตามลำน้ำสู่ทะเล กลุ่มติดอาวุธก็ตามมา ขบวนการติดอาวุธ FARC ก่อตั้งเมื่อปลายทศวรรษ 1960s ก็เข้ามาในดินแดนนี้ ตามด้วยกองทัพรัฐบาลที่ไล่ล่า สบทบด้วยกองกำลังฝ่ายขวาที่จัดตั้งโดยเจ้าที่ดินรายใหญ่
ความรุนแรงแผ่ซ่านไปทั่ว กฎอยู่ในมือผู้ถือปืน กฎนี้ไม่ต้องประกาศแต่รู้กันว่า ใครขโมยต้องถูกฆ่า ใครฆ่าต้องถูกฆ่า ใครไปฟ้องต้องถูกฆ่า ใครละเมิดกฎ “ห้ามปริปาก”นี้ ต้องถูกฆ่าทั้งครอบครัว ในปี ค.ศ. 1987 นายร้อยแห่งกองทัพคนหนึ่งผู้เลื่องชื่อในเรื่องความโหดร้ายเรียกประชุมชาวไร่ชาวนากว่า 2000 คน เพื่อบอกว่า จะยกโทษให้พวกเขาถ้ายอมรับอาวุธและมาเป็นกองกำลังจัดตั้งเพื่อสู้รบกับ FARC เขาเสนอทางเลือก 4 ทางคือ มาเป็นกองกำลังของเรา ไปสมทบ FARC อพยพออกไป หรือตาย
โฮเซ ชายวัยกลางคน ลุกขึ้นมาพูดว่า “คุณพูดเรื่องยกโทษ แต่ยกโทษเราเรื่องอะไร คุณคือผู้ล่วงละเมิด เราไม่เคยฆ่าใคร คุณจะให้อาวุธราคาหลายล้านแก่เรา แต่สินเชื่อเพื่อการเกษตรสักเปโซก็ไม่มีให้ ที่นี่มีทหาร 100,000 คน มีตำรวจอีกมาก มีพวก FARC 20,000 คน มีทหารพราน มีพ่อค้ายาเสพติด และมีกองกำลังเจ้าที่ดิน แต่ช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย เราไม่ต้องการปืน เราต้องการสินเชื่อ รถไถ รถบรรทุก คุณเป็นทหาร หน้าที่ของคุณคือคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่มายุยงให้เราฆ่ากันเอง เราจะไม่อยู่ข้างคุณ ไม่อยู่ข้างใครทั้งนั้น และเราจะไม่ไปจากที่นี่ด้วย”
ต่อมา ผู้นำชาวไร่ชาวนาประมาณ 20 คน ตัดสินใจที่จะตั้งสมาคมชาวไร่ชาวนาแห่งการาเร เพื่อที่จะต่อสู้โดยสันติวิธี คำขวัญคือ “เรายอมตาย แต่ไม่ยอมฆ่าใคร” มีหลักการทำงานว่า เราจะเผชิญการแยกส่วนด้วยความสามัคคี เผชิญกฎ“ห้ามปริปาก”ด้วยการพูดทุกเรื่องในที่สาธารณะ เผชิญความกลัวด้วยความจริงใจและการสานเสวนา เผชิญความรุนแรงด้วยความพร้อมที่จะพูดกับทุกคน ยุทธศาสตร์ของเราคือความโปร่งใสและการประกาศดินแดนนี้เป็นดินแดนแห่งสันติ
การพูดโดยเปิดเผยกับทุกกลุ่มช่วยให้ความรุนแรงลดน้อยลง สมาคมเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลสันติภาพหลายรางวัล แต่สมาคมต้องสูญเสียมากเช่นกัน ผู้นำหลายคนถูกลอบสังหาร รวมทั้งโฮเซผู้จุดประกายในวันนั้นด้วย
จากเรื่องเล่าเรื่องที่สาม เลเดอรัคคงอยากบอกพวกเราว่า จงจินตนาการไปให้ไกลกว่าที่เห็น เมื่อเผชิญกับความรุนแรงและการข่มขู่คุกคาม จงเสนอความจริง ความโปร่งใส และการสานเสวนา
เรื่องเล่าสี่มาจากประเทศทาจิกกิสถาน ที่อยู่ถัดไปทางเหนือของอัฟกานิสถาน ประเทศนี้สามารถยุติสงครามกลางเมืองโดยการตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วยกลุ่มมุสลิม อดีตคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งซึ่งกลุ่มมุสลิมแพ้ แต่หลังจากยอมรับความพ่ายแพ้นั้น พวกมุสลิมไม่หวนกลับไปทำสงครามกลางเมืองอีก
ในช่วงสงครามกลางเมือง รัฐบาลขอให้อาจารย์คนหนึ่งช่วยเจรจากับอิหม่ามที่เป็นหัวหน้าขบวนการอิสลาม เขาลังเลเพราะอิหม่ามคนนี้คือผู้ที่ฆ่าเพื่อนสนิทของเขา ที่สุดเขาก็รับ และขึ้นไปเจรจากับอิหม่ามซึ่งมีฐานที่มั่นบนภูเขา เมื่อไปถึงอิหม่ามบอกว่าเขามาสาย ต้องขอตัวไปทำละหมาด เขาก็ไปทำละหมาดด้วย จบแล้วอิหม่ามถามว่า “พวกคอมมิวนิสต์รู้จักภาวนาด้วยหรือ” เขาตอบว่า “พ่อผมเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ผมไม่ใช่” อิหม่ามถามว่าเขาสอนอะไร ทั้งสองพบว่าพวกเขาสนใจปรัชญาและนิกายซูฟีเหมือนกัน จึงคุยกันจนเลยเวลาที่ตกลงกันไว้ตั้งนาน
เขาไปเยี่ยมอิหม่ามอีกหลายต่อหลายหน ส่วนใหญ่ก็พูดกันเรื่องกวีนิพนธ์และปรัชญา หลายเดือนผ่านไป เกิดความไว้วางใจกันเพียงพอที่จะพูดความจริง อิหม่ามบอกว่า “ถ้าผมวางอาวุธ และไปกับอาจารย์ที่เมืองดูชานเบ อาจารย์จะประกันความปลอดภัยของผมได้ไหม” อาจารย์อึ้งไปนาน ที่จริงแล้วเขาก็ไม่อาจให้หลักประกันได้ เขาตอบ “ผมประกันความปลอดภัยของคุณไม่ได้ แต่ผมจะไปกับคุณ อยู่ข้างคุณ ถ้าคุณตาย ผมก็ตาย”
หลายสัปดาห์ต่อมา พวกเขาลงมาจากภูเขาด้วยกัน อิหม่ามบอกกับคณะกรรมการของรัฐบาลว่า “ผมมาวันนี้เพราะผมให้เกียรติและเคารพอาจารย์คนนี้” หลังการเจรจา กลุ่มอิสลามยอมวางอาวุธ สงครามยุติลง หลายปีผ่านไป อาจารย์และอิหม่ามยังมีชีวิตอยู่ และยังมาคุยกันบ่อย ๆ เรื่องกวีนิพนธ์และปรัชญา นี่คือการสร้างสันติภาพ ตามสไตล์ของทาจิกกิสถาน
จากเรื่องเล่าเรื่องที่สี่ เลเดอรัคคงอยากบอกพวกเราว่า ขอให้เสี่ยงที่จะเปิดเผยจุดอ่อน เป็นขั้นเป็นตอนไป การเปิดเผยจุดอ่อนและยอมรับความเสี่ยงแสดงถึงความจริงใจและความไว้วางใจ ดังเช่นการกระทำของผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคนหนึ่งที่ยอมไปพบผู้นำฝ่ายขบวนการฯโดยไม่พกพาอาวุธ เมื่อครั้งที่ความรุนแรงร้อนระอุหลังเหตุการณ์ตากใบ
เลเดอรัคสรุปว่า การสร้างสันติภาพมิใช่การมุ่งหาคำตอบเพียงคำตอบเดียว ที่ครอบคลุมปัญหานานาที่เราเผชิญ มิเชิงเป็นคำตอบว่า ระบบใหม่ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่น่ามหัศจรรย์นั้น ควรเป็นอย่างไร หากเป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติของจุดเปลี่ยนมากกว่า จุดเปลี่ยนนี้กอปรเป็นพลังธรรมแห่งจินตนาการ ซึ่งถ้าหากขาดหายไป ก็มิอาจเข้าใจหรือปฏิบัติการสร้างสันติภาพได้ จุดเปลี่ยนนั้นมิอาจเกิดจากสูตรสำเร็จหรือการใช้เทคนิค แต่ใกล้เคียงกับกระบวนการทางศิลปะ ที่ต้องการความสร้างสรรค์ ทักษะ การเฉลียวพบ (serendipity) และความมีฝีมือ
เลเดอรัคยกบทกวีของโอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ มาอธิบายการค้นหาสารัตถะของการสร้างสันติภาพ ดังนี้ “ผมจะไม่จ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียวเพื่อความเรียบง่าย ณ ฝั่งนี้ของความซับซ้อน แต่ผมยอมแลกด้วยชีวิตเพื่อความเรียบง่าย ณ ฝั่งโน้นของความซับซ้อน” นักศึกษาที่เรียนวิชาสันติศึกษาเมื่ออ่านบทกวีนี้แล้วก็งง ผมเองก็งง แต่ก็ตีความเอาเองว่า ณ ฝั่งนี้ของความซับซ้อนหมายถึงความคิดลดทอน (reductionist) เช่น แบ่งคนเป็นสองพวก คือเทพกับมาร ใครเป็นพวกเราก็เป็นเทพ ถ้าไม่ใช่ก็เป็นมาร เป็นพวกก่อการร้าย เป็นพวกต่อต้านอารยธรรม เป็นพวกอินเดียนแดง ฯลฯ ส่วนพวกเราต้องทำสงครามกับการก่อการร้าย ต้องการจรรโลงอารยธรรม เป็นคอนคิสตาดอร์หรือไพโอเนียร์ ฯลฯ
อีกฝั่งหนึ่งของความซับซ้อนมีความเรียบง่ายที่ต้องเพียรค้นหา เมื่อเห็นฝูงนกย้ายถิ่นที่มีแผนแบบการบินที่ซับซ้อน เราต้องจินตนาการและทดสอบว่า นกมีกติการการบินที่เรียบง่ายไหม เช่น หนึ่ง รักษาระยะห่างจากนกข้าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกัน สอง คล้อยตามทิศทางบินในการย้ายถิ่นของฝูง ส่วนความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากเล่า ความเรียบง่ายที่ต้องค้นหาเพื่อข้ามพ้นการลดทอนนั้นเป็นอย่างไร เลเดอรัคทดลองเสนอแนวคิดสี่ประการที่สะท้อนคิดจากเรื่องเล่าทั้งสี่เรื่อง
พลังธรรมแห่งจินตนาการต้องอาศัยศาสตร์ทั้งสี่สาขา ได้แก่ ความสามารถที่จะจินตนาการตัวเราว่าอยู่ในใยโยง (web) ของสัมพันธภาพ ซึ่งมีศัตรูของเรารวมอยู่ด้วย (centrality of relationship) ความสามารถที่จะดำรงความใฝ่รู้อย่างย้อนแย้ง (paradoxical curiosity) ที่โอบรับความซับซ้อนโดยไม่พึ่งพาการแยกเป็นสองขั้ว การมุ่งแสวงหาการกระทำที่สร้างสรรค์ (creativity) และการยอมรับความเสี่ยง (taking risk) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราก้าวเข้าสู่ความเร้นลับของสิ่งที่เราไม่รู้ และทอดไกลไปกว่าความรุนแรงที่เราคุ้นเคยจนเกินไป
ก่อนจบ ขออธิบายคำศัพท์ที่อาจใหม่สำหรับผู้อ่านบางคน นั่นคือคำว่าการเฉลียวพบ ซึ่งหมายถึงการค้นพบสิ่งที่คุณไม่ได้มุ่งแสวงหาตั้งแต่ต้น แต่พบได้โดยบังเอิญ ด้วยความเฉลียวฉลาด โดยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการ เนื้อหาสาระ และจุดมุ่งหมายไปตลอดเส้นทาง พร้อม ๆ กับการพัฒนาการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่การพัฒนาการเห็นรอบนอก (peripheral) ขณะที่ดำรงสำนึกที่แจ่มชัดในเรื่องทิศทางและจุดมุ่งหมาย
ขอให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการฯ มีพลังธรรมแห่งจินตนาการ มีการเฉลียวพบ มีศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกันเทอญ
โคทม อารียา