‘วิโรจน์’ มอง มาตรการแก้ PM2.5 ของ ‘รัฐบาล’ เป็นการคลี่คลายปัญหาระยะสั้น ควรจริงใจได้มากกว่านี้ ลั่น อย่าตระหนี่ถี่เหนียว หากมีความจำเป็น ก็ต้องดึงงบกลางมาเพิ่ม ทำหลายอย่างควบคู่กัน ชี้ ควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมกับโรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยไฟไหม้แพงขึ้น เพื่อจูงใจให้เกษตรกรอยากขายอ้อยสด
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ จ.จันทบุรี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลในขณะนี้ว่า เป็นมาตรการคลี่คลายปัญหาในระยะสั้น หากมองถึงเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ ยังมีเรื่องของสารอินทรีย์ระเหยง่ายด้วย ซึ่งเราไม่พบมาตรการการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว
นายวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่า ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นประธาน และไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยซ้ำ มีการประชุมเพียง 3 ครั้ง ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็มีการประชุมไปแค่ 2 ครั้ง ยิ่งเมื่อดูในรายงานการประชุม ก็จะพบเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรื่องถนน ส่วนที่ใกล้เคียงกับปัญหา PM2.5 มากที่สุดคือ น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 เท่านั้น ซึ่งแสดงว่า รัฐบาลสามารถจริงจังกับปัญหานี้ได้มากกว่านี้
เนื่องจากหากไปดูมติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ก็พบว่ารัฐบาลดูเบาต่อสถานการณ์ในเรื่องนี้เกินไปจริงๆ “เราไม่อยากมองว่า PM2.5 เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ไม่อยากให้มันเป็นความปกติใหม่ของประเทศไทย”
เมื่อถามถึงมาตรการรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี 7 วัน ที่ใช้งบประมาณไปถึง 140 ล้านบาท ซึ่งมีนักวิชาการมองว่า ควรนำไปซื้อเครื่องฟอกอากาศให้นักเรียนมากกว่า นายวิโรจน์ระบุว่า เรื่องนี้คงจะต้องทำหลายๆ อย่าง ไม่ใช่เรื่องการนำจำนวนเงิน 140 ล้านบาทนี้ มาใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย รถไฟฟ้ารถเมล์ฟรี อาจจะต้องทำไป แต่หากจำเป็นต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศให้กับเด็ก ก็ต้องอนุมัติงบกลางมาอีกหนึ่งก้อน ไม่ใช่ใช้เงินเพียงก้อนเดียว แล้วแบ่งกันไปกันมา สุดท้าย ตรงนั้นก็ได้ไม่เต็มที่ ตรงนี้ก็ได้ไม่เต็มที่
“ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งตระหนี่ถี่เหนียว นาทีนี้เป็นปัญหาที่เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกสถานะ ยากดีมีจน คุณก็ต้องใช้อากาศหายใจเหมือนกัน”
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เคยมีนโยบายระบุ จะกำจัดต้นตอ PM2.5 เมื่อได้เป็นรัฐบาล แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ จะถือว่าทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า การประชุมที่ผ่านมา ไม่มีครั้งใดที่พูดถึงเรื่อง PM2.5 เลย ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า รัฐบาลไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้ ตนมองว่า มาตรการนี้ คงต้องใช้ทั้งการรณรงค์ กฎหมาย และการชดเชยเยียวยาด้วย
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะถูกนำไปเป็นเรื่องหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า นายภัทรพงศ์ ลีลาภัทร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน เตรียมเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นคนที่พรรคมอบหมายให้ดูแลในเรื่องนี้ รวมถึงได้ติดตามความคืบหน้า ความจริงจัง จริงใจของรัฐบาลชุดนี้ มาโดยตลอด
เมื่อถามถึงกรณีมีประชาชนโพสต์ภาพเผาอ้อย จนถูกวิจารณ์ นายวิโรจน์ระบุว่า อย่าเพิ่งไปโทษประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่การรณรงค์ ทำความเข้าใจของรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ น้อยเกินไป และเข้าไม่ถึง ทำให้เขายังไม่ได้ตระหนักว่า สิ่งที่เขาทำลงไป เป็นผลร้ายในระดับชาติ
นายวิโรจน์กล่าวว่า เรื่องอ้อย ควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมกับโรงงานน้ำตาลที่ซื้ออ้อยไฟไหม้ให้แพงขึ้น เพื่อนำค่าธรรมเนียมตรงนี้ไปอุดหนุนกับเกษตรที่ขายอ้อยสด ให้ได้ราคาดี เพื่อจูงใจให้มีคนอยากขายอ้อยสดมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า การขายอ้อยสด มีต้นทุนการดำเนินการที่แพงกว่าการเผาอ้อย เนื่องจากมีเรื่องต้นทุนสาธารณสุขที่สูงกว่า
นอกจากนี้ ยังควรมีการส่งเสริมเรื่องการเกษตรแปลงใหญ่ และลงทุนในเรื่องของรถตัดอ้อย เพื่อให้เกษตรกรสามารถหยิบยืมไปใช้ได้ ควบคู่กันไป ต้องทำหลายมิติร่วมกัน ปัญหานี้จึงจะแก้ไขได้ ภายใต้การสร้างความเข้าใจร่วมกัน หากใช้กฎหมายอย่างเดียว ความเข้าใจก็ไม่มี จะเกิดข้อผิดพลาดกันอีก หรือหากใช้แต่มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีมาตรการทางกฎหมาย ก็จะไม่เข้มงวด ไม่รัดกุม ทุกอย่างต้องทำควบคู่กัน