อดีตลูกจ้าง ‘ยานภัณฑ์’ บุก ก.แรงงาน ทวงความช่วยเหลือหลังถูกลอยแพ-จี้นายจ้างจ่ายชดเชย
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ กลุ่มอดีตพนักงานบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (YNP) จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 80 คน รวมตัวที่ที่กระทรวงแรงงาน ทวงถามความช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีลูกจ้าง 859 คน ถูกเลิกจ้าง พร้อมขอให้พิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือพนักงานและครอบครัว โดยอนุมัติเงินจากงบประมาณกลาง รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและบังคับให้ผู้บริหารบริษัท ยานภัณฑ์ฯ จ่ายเงินชดเชยคืนให้กับรัฐที่ได้ดำเนินการจ่ายไปก่อน
น.ส.มาลี เตวิชา ประธานสหภาพยานยนต์กรุ๊ป และอดีตคนงานบริษัท ยานภัณฑ์ฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายจ้างบริษัท ยานภัณฑ์ฯ ประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้ลูกจ้าง จำนวน 859 คน ตกงานทันที ต่อมา พนักงานที่ได้รับผลกระทบดำเนินการร้องทุกข์ ร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐตามลำดับ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทั้งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายอารี ไกรนารา เลขานุการ ฯ เป็นประธานมอบเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง พร้อมแถลงว่า กระทรวงแรงงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้าง จำนวน 859 คน เป็นเงิน 38,996,577.74 บาท โดยลูกจ้างจะได้รับเงินเฉลี่ยคนละ 70,000 บาท
“ดังนั้น พนักงานยานภัณฑ์จึงขอแถลงว่า ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ซึ่งปรากฏตามข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. ระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยไม่มีความผิด และลูกจ้างได้ยื่นคำร้อง (คร. 7) ถึงที่สุดถ้านายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลูกจ้างมีสิทธิในการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ลูกจ้างตามอายุงาน เช่น อายุงาน 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ลูกจ้างเป็น 70 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2.กรณีว่างงาน ลูกจ้างคนใดที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดต้องขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และต้องรายงานตัวเป็นเดือนๆ ไป ในกรณีนี้ สปส.จะจ่ายสิทธิประโยชน์ เป็นรายเดือนไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวพร้อมกันในคราวเดียวรวม 6 เดือน ดังที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแถลง” น.ส.มาลี กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.มาลี กล่าวว่า ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะปัดความรับผิดชอบต่อกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้เด็ดขาด พนักงานผู้ได้รับเดือดร้อนยังคงยืนยันให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานดำเนินการตามหนังสือฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2568 ของลูกจ้าง คือ 1.ขอให้นายกฯ พิจารณาดำเนินโครงการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือพนักงานและ ครอบครัว โดยอนุมัติเงินจากงบประมาณกลางไปพลางก่อน (ซึ่งในกรณีนี้ กระทรวงแรงงานเคยดำเนินการเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณกลางตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันรวม 9 ครั้ง และครั้งสุดท้าย กรณีช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธันวาคม 2566 และ 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งบังคับและติดตามให้บริษัท ยานภัณฑ์ฯ ดำเนินการจ่ายเงินเพื่อทดแทนให้กับเงินงบกลางที่รัฐได้ดำเนินการจ่ายไปก่อน
“ทั้งนี้กลุ่มพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนขอเน้นย้ำว่า เราต้องการสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เท่านั้น หากรัฐบาลสามารถปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองในการบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างได้จริง พวกเราไม่มีเหตุจำเป็นใดในการเรียกร้องตั้งแต่แรก เราจึงมีความคาดหวังว่าการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกกระทรวงแรงงาน ตามการประสาน โดย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในวันที่ 28 มกราคม 2568 จะสามารถบรรลุแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานได้โดยเร็วและครบถ้วน” น.ส. มาลี กล่าว
ด้าน นายศุภกร ใจสูงเนิน อายุ 52 ปี อดีตพนักงานบริษัท ยานภัณฑ์ฯ กล่าวว่า ลูกจ้างทุกคนล้วนมีภาระต้องแบกรับ บางคนมีครอบครัว มีลูก พนักงานบางคนตั้งครรภ์ แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใคร ตลอดระยะเวลาราว 2 เดือนที่ถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้มาชดเชย บริษัทฯ ไม่ได้มีค่าชดเชยแม้แต่สตางค์เดียว จึงอยากทวงถามความคืบหน้าจากภาครัฐ และอีกนัยหนึ่ง คือ อยากให้มีงบประมาณกลางออกมาช่วยเหลือพวกเราไปพลางก่อน เพราะชีวิตแรงงานถูกลอยแพหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ กลุ่มอดีตลูกจ้างฯ จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามและติดตามเงินชดเชยตามสิทธิแรงงานด้วย