ปิยบุตร ชี้ 3 เกณฑ์ จัดเป็นบ้านใหญ่ ยันชัดมุ่งทำการเมืองแบ่งสัมปทาน มากกว่าต่อสู้เพื่อคุณภาพการเมือง
GH News February 04, 2025 01:03 AM

“ปิยบุตร” ร่ายยาว “บ้านใหญ่” คืออะไร ชี้เป็นต่อสู้เพื่อให้ตนเองมีอำนาจ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจการเมือง มากกว่าการต่อสู้เพื่อประชาชน พัฒนาคุณภาพการเมือง-ประชาธิปไตย บอกไม่น่าแปลกใจว่า เราหา “บ้านใหญ่” ที่สู้กับรัฐประหาร-อำนาจนอกระบบยาก เหตุสู้ไปก็เท่านั้น สู้เป็นพวกกับเขาจะดีเสียกว่า

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “บ้านใหญ่” คืออะไร ว่า ในช่วงเวลานี้ มีการถกเถียงกัน เรื่อง “บ้านใหญ่” กันจำนวนมาก ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบเครือข่ายอุปถัมภ์ เล่นพรรคพวก สืบทอดอำนาจผ่านทางสายโลหิต ส่งผลกระทบต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น และคุณภาพประชาธิปไตย อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไทย โดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีบ้านใหญ่ อาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านประชาธิปไตย และไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน และดูถูกเสียงของประชาชนที่เลือกมา

ก่อนจะถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว จำเป็นต้องนิยามคำว่า “บ้านใหญ่” เสียก่อน

ใครจะเป็น “บ้านใหญ่” ไม่อาจพิจารณาได้เพียงนามสกุล หรือ สายโลหิต บุคคลไม่สามารถเลือกเกิดได้ว่าจะออกจากครรภ์มารดาของคนนามสกุลใด และมาจากการผสมพันธุ์ระหว่างใครกับใคร หากเราตีขลุมไปหมดว่า คนที่นามสกุลเดียวกันกับนักการเมือง คนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองประจำจังหวัด เท่ากับเป็น “บ้านใหญ่” ทั้งหมด ย่อมไม่เป็นธรรม เพราะคนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองอาจมีความประพฤติ อุดมการณ์ แนวคิดต่างกันกับพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือนักการเมืองในตระกูลตนเองก็ได้ การใช้วิธีการเหมารวมไปหมดว่า “นามสกุลของนักการเมืองคนหนึ่ง = บ้านใหญ่” แล้ว ย่อมทำให้การวิเคราะห์คลาดเคลื่อน และไม่เกิดความเจริญทางปัญญา แต่ลดทอนการถกเถียงให้เหลือแต่เพียง “มึงด่ากูว่าบ้านใหญ่ มึงก็บ้านใหญ่เหมือนกัน”

หลักเกณฑ์ในการจัดให้เป็น “บ้านใหญ่” มี 3 ประการ ประการแรก การสร้างฐานทางการเมืองและทำงานทางการเมืองแบบ “แบ่งสัมปทานอำนาจรัฐ”

การเมืองแบบแบ่งสัมปทานอำนาจรัฐ คือ การใช้เงินของครอบครัวตนเอง การใช้อำนาจ อิทธิพล เครือข่ายของตนเอง เข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่เลือกตั้ง (เช่น ทำบุญ บริจาค แจกสิ่งของ จัดบริการสาธารณะให้เอง โดยไม่ผ่านอำนาจรัฐ ไม่รอหน่วยงาน ไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น) หรือใช้อิทธิพลของตนในการทำให้คนที่อยู่ในเครือข่ายตนเองได้เปรียบ (เช่น ฝากเข้าโรงเรียน แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เลี้ยงดูเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เลี้ยงดูหัวคะแนน เป็นต้น) จนสร้างเครือข่าย อิทธิพล และเกิดเป็น “หนี้บุญคุณ” ต่อกัน ทั้งหมด เพื่อหวังผลตอบแทนกลับมา คือ การได้รับเลือกตั้งหรือเข้าไปดำรงตำแหน่งแบบ “ผูกขาด” เมื่อมีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินและใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็จะหาวิธีการเบียดบังเอางบประมาณเหล่านั้นเข้ากระเป๋าตนเอง สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับตระกูลตนเอง และแบ่งเอาเงินและทรัพยากรเหล่านั้นบางส่วนมาเป็น “ทุน” ในการทำการเมืองต่อไป วนเวียนแบบนี้เป็นวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนฝังรากลึกลงไป

ประการที่สอง การถ่ายโอนอำนาจการเมืองผ่านการสืบทอดทางสายโลหิต การคัดเลือกคนไปดำรงตำแหน่งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้พิจารณาจากความรู้ความสามารถ ไม่ได้พิจารณาจากแนวคิด ไม่ได้พิจารณาจากการคัดสรรตามกระบวนการของพรรคที่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้าแข่งขัน แต่คิดจากสายโลหิต เหมือนเป็นธุรกิจหรือกงสีในครอบครัว อาจมีคนเข้ามาทำงาน มีมืออาชีพมาช่วยบริหาร แต่เจ้าของต้องเป็นคนในตระกูลตนเอง การดำรงตำแหน่งใหญ่ต้องเป็นคนของตระกูลตนเอง

จริงอยู่ ในบางตำแหน่ง ระบบการเลือกตั้งจะบังคับว่า ต่อให้ “บ้านใหญ่” ส่งคนในบ้าน คนในสายโลหิตตนเอง มาลง ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งโดยอัตโนมัติ แต่เขาต้องชนะเลือกตั้งให้ได้เสียก่อน แต่ทว่าการทำการเมืองแบบ้านใหญ่ที่มุ่งสร้างอิทธิพลเครือข่ายในพื้นที่ ก็จะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้บ้านใหญ่ส่งคนในครอบครัวตนเองมาลง ก็ย่อมมีโอกาสชนะ

การใช้วิธีการสืบสายโลหิตแบบนี้ คือ การเอาเรื่อง “ครอบครัว” ซึ่งเป็นแดนเอกชน มาปะปนกับเรื่อง “การเมือง”

แทนที่การเมือง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม ตัดสินใจร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม/ส่วนใหญ่ การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องเป็นเรื่องส่วนรวม ก็จะมีเรื่องส่วนตัว เข้ามาเป็นมูลเหตุจูงใจในการตัดสินใจ

การทำโครงการของส่วนรวม แทนที่จะคิดว่าส่วนรวมได้อะไร ก็ต้องคิดว่าครอบครัวตนได้อะไรบ้าง หรือถ้าส่วนรวมได้ด้วย ครอบครัวตนเองก็ต้องได้ด้วย

ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการทำงานการเมือง หัวหน้าบ้านใหญ่ก็ต้องคอยคิดว่าลูกหลานของตนคนไหนที่เรียนจบแล้ว อายุถึงเกณฑ์แล้ว ควรเข้ามารับไม้ต่อ เข้าครองอำนาจโดยไม่ต้องพิสูจน์ผลงาน แซงคิวคนจำนวนมากที่อุทิศตนทำงานมาก่อน และคนในเครือข่ายทุกคน ต่อให้เก่งมาจากไหน ก็ต้องเคารพ สวามิภักดิ์ “ทายาทผู้สืบสันดาน” อย่างราบคาบ เพียงเพราะว่า คนที่เป็นทายาทมี “ตราประจำตระกูล”

ประการที่สาม การสวามิภักดิ์อำนาจนิยมที่อยู่เหนือกว่าตนเอง การเมืองแบบบ้านใหญ่ต้องการสร้างอิทธิพลและบารมีในอาณาเขตของตนเอง เช่น ในจังหวัด หรือในหลายจังหวัดใกล้เคียงกัน แต่จะไม่ท้าทายกับอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเอง พวกเขาตีกรอบแดนอาณาเขตไว้ ไม่ยุ่งกับแดนอื่น และป้องกันไม่ให้คนอื่น กลุ่มอื่น มารุกล้ำแดนตนเอง หากตนเองเป็นบ้านใหญ่ในจังหวัดตนเอง ก็ไม่ไปยุ่งกับจังหวัดอื่น พวกเขาต้องสวามิภักดิ์กับ “ลูกพี่” ที่มีอำนาจคุมโซนพื้นที่ในหลายจังหวัด และสวามิภักดิ์ต่อกับอำนาจที่เหนือกว่าเป็นลำดับชั้นขึ้นไป จากบ้านใหญ่ประจำจังหวัด ไปสู่ลูกพี่ใหญ่ที่คุมโซนหลายจังหวัด ไปถึงหัวหน้ามุ้งการเมืองผู้สนับสนุนทุนและแจกเงินเดือน ดูแลลูกมุ้ง ไปจนถึงรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนมุ้ง มาตามโควต้ามุ้ง

อาจมีกรณี “บ้านใหญ่” ท้าทายอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเองอยู่บ้าง หากบ้านใหญ่หลังนั้นคิดแล้วว่าอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเองเริ่มเสื่อมถอยลงไป จนตนเองน่าจะท้าชิงล้มอำนาจเดิมได้ เมื่อโค่นล้มอำนาจเดิมได้ ก็สถาปนาบ้านใหญ่ตนเองขึ้นควบคุมอาณาเขตที่กว้างกว่าเดิมออกไป และควบคุมมิให้บ้านใหญ่อื่นต่อต้าน ท้าทาย

ในส่วนของการเมืองระดับชาตินั้น แกนนำพรรคหรือเจ้าของพรรคที่อาศัยพลังของบ้านใหญ่หลายๆบ้านรวมกันเป็นตัวเลขจำนวนส.ส. สนับสนุนให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการบ้านใหญ่เหล่านี้ ผ่านทั้งพระเดชและพระคุณ นายกรัฐมนตรีที่อาศัยพลังของบ้านใหญ่ ต้องจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับบ้านใหญ่ตามสมควร ถ้าจัดสรรกันได้ลงตัว แบ่ง “สัมปทาน” การทำมาหากินในกระทรวงต่างๆได้ลงตัว ก็แดนใครแดนมัน ไม่ยุ่งต่อกัน บรรดาบ้านใหญ่ต่างๆ ก็พร้อมสวามิภักดิ์นายกรัฐมนตรีคนนั้นต่อไป

อัตราความสวามิภักดิ์ของบ้านใหญ่ต่อนายกรัฐมนตรี ผกผันตามคุณลักษณะและสถานะของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนด้วย ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมสูง มีกระแสสนับสนุนจากประชาชนมาก มีภาวะผู้นำสูง สถานะเข้มแข็ง อำนาจต่อรองของบ้านใหญ่ก็ลดน้อยถอยลง เพราะ บ้านใหญ่ต้องใช้ “ยี่ห้อ” ของนายกรัฐมนตรีและพรรค ในการลงสนามเลือกตั้ง และการอยู่ร่วมชายคา “ยี่ห้อ” เดียวกัน ก็มีโอกาสได้รับโควต้ารัฐมนตรี

แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกระแสตก คนไม่นิยม ถูกกลไกนิติสงครามปิดล้อม ไม่สามารถทะยานเป็นนายกรัฐมนตรีเข้มแข็งได้แบบเดิม ถูกอำนาจนอกระบบรัฐประหาร ล้มรัฐบาล หรือกองทัพ/คณะรัฐประหาร เข้ามามีบทบาทควบคุมการเมืองและการเลือกตั้ง หากสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เหล่าบรรดาบ้านใหญ่ ก็พร้อมละทิ้งค่ายที่ตนเคยสังกัด และหันไป “จิ้มก้อง/สวามิภักดิ์” กลุ่มอำนาจใหม่แทน

กล่าวให้ถึงที่สุด บ้านใหญ่ทั้งหลายจะสวามิภักดิ์อำนาจนิยมที่เหนือกว่าตนเอง ตราบเท่าที่กลุ่มอำนาจนิยมนั้นยังเรืองอำนาจและให้คุณให้โทษบ้านใหญ่ได้

ดังนั้น การเมืองแบบบ้านใหญ่ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้เพื่อบ้านใหญ่ ต่อสู้เพื่อตนเอง เพื่อให้บ้านใหญ่มีอำนาจ มีโอกาสแสวงหาอำนาจ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจการเมือง รักษาอำนาจความเป็นบ้านใหญ่ต่อไป มากกว่าการต่อสู้เพื่อประชาชน พัฒนาคุณภาพการเมือง หรือประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เราหา “บ้านใหญ่” ที่สู้กับรัฐประหาร สู้กับอำนาจนอกระบบ สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ปฏิรูประบบศาล กองทัพ องค์กรอิสระให้ดีขึ้น ได้ยาก อาจมีอยู่บ้าง ที่เคยสู้ แต่แล้วก็คิดได้ว่า สู้กับพวกเขาไปก็เท่านั้น สู้เป็นพวกกับเขาจะดีเสียกว่า

ไม่มีทางที่การเมืองแบบบ้านใหญ่จะเกิดจิตสำนึกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้าได้ด้วยตนเอง ตราบใดที่พวกเขายังได้ประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจแบบนี้

ต่อให้พวกเขาฉุกคิดได้ ก็เป็นเพียงแค่ฉุกคิดชั่ววูบชั่วคราว บ่นคุยกันตามวงข้าววงเหล้า แต่ให้เปลี่ยนเอง พวกเขาไม่ทำ

มีแต่ต้องอาศัยพลังใหม่เปลี่ยนแปลง เข้ายึดกุมสังคม และประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ จนบีบบ้านใหญ่ให้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.