เจ้าสัวซีพี ยันไม่ผูกขาดธุรกิจ เชื่อมั่นศก.ไทยยังมีอนาคต รัฐหนุนท่องเที่ยวมาถูกทาง
GH News February 04, 2025 09:52 AM

เจ้าสัวซีพี เชื่อมั่นศก.ไทยยังมีอนาคต ชี้รัฐหนุนท่องเที่ยวมาถูกทาง ยันไม่ผูกขาดธุรกิจ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานสัมมนา “Chula Thailand Presidents Summit 2025”  โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เปิดเผยในหัวข้อ “Future Thailand: Next Growth” ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเบอร์ 1 ผลิตแต่คนเก่งๆ ออกมา อาทิ สารัชถ์ รัตนาวะดี ที่อายุยังน้อย และเข้าสู่ธุรกิจพลังงานที่ทันสมัยที่สุด เพราะยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องไฟฟ้า ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งไฟฟ้ามาจากพลังงานแสงอาทิตย์และน้ำด้วย ที่สำคัญคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เป็นธุรกิจในอนาคต มีความยิ่งใหญ่ สะอาดและปลอดภัย อาทิ ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย มีกฎหมายที่จะรองรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งหากพูดถึงเอไอหรือเรื่องอื่นๆ สิ่งที่ขาดอยู่คือ ไฟฟ้าที่สะอาดและถูกอย่างไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะมองว่าแสงอาทิตย์และลมไม่เพียงพอ

นายธนินท์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องใกล้ตัวอย่างเศรษฐกิจไทย มองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีอนาคต แต่เผอิญว่าเราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งดินฟ้าอากาศปั่นป่วน การเมืองปั่นป่วน เทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนอย่างรวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยการไปลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจะนำคนไทยเป็นผู้นำไป ซึ่งการไปลงทุนในแต่ละประเทศจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้น และต้องได้ 3 ประโยชน์ 1.ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ 2.ประชาชนในประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ และ 3.เครือเจริญโภคภัณฑ์จะต้องได้ประโยชน์ เพราะเราผลิตสินค้าให้ประชาชน หากไม่นิยมจะขายสินค้าที่ผลิตออกมาได้อย่างไร จึงมองอนาคตยังแจ่มใสอยู่ แต่ก็มีวิกฤต ซึ่งทุกวิกฤตมีโอกาส ไม่มีการราบรื่นไปนานๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งซ้ำกันไป โดยประเมินเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยในวันนี้ รัฐบาลทำได้ถูกต้องแล้ว คือ ไม่ต้องมีวีซ่า เพราะเป็นส่วนที่นำเงินเข้ามาในประเทศเร็วที่สุด เราพร้อม ประเทศไทยพร้อม แต่พร้อมจริงหรือไม่ ต้องบอกว่ายังไม่ใช่ เพราะเราต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมในการสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น ตั้งเป้าหมายว่าการท่องเที่ยวจะต้องไปอยู่ในระดับไหน คนที่มาเที่ยวเมืองไทยจะเป็นกลุ่มไหน ประเทศไหน ถามว่าเป้าหมายเรามีหรือยัง

นายธนินท์ กล่าวว่า เมืองไทยน่าจะเป็นศูนย์การเรียนของโลก เพราะประเทศไทยน่ามาอยู่ พอแค่นี้ได้ แต่หากเรามีมหาวิทยาลัยที่ก้าวทันต่อโลก จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง เพราะจะสามารถดึงดูดคนมาเรียนเมืองไทยได้มากขึ้นแน่นอน ซึ่งการเข้ามาเรียนในไทย เราได้ทั้งคนเก่งและมันสมองเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าเมืองไทยอีกมหาศาล ไม่แพ้การท่องเที่ยวในระยะยาว เพราะฉะนั้น ฝากรัฐบาล ท่องเที่ยวต้องตั้งเป้าหมาย ตั้งงบประมาณ เราจะได้อะไร ต้องชัด โดยเฉพาะความปลอดภัยสำคัญอย่างยิ่ง และเน้นย้ำว่าเรื่องงบประมาณจะต้องชัดเจน ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เห็น

นายธนินท์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่ไทยได้เปรียบคือ ภาคการเกษตร การที่ทั่วโลกปั่นป่วน เกิดแผ่นดินไหว หรือพายุต้ฝุ่น ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรงเหล่านี้ แม้จะเฉียดไปเฉียดมาระหว่างไทย มีเพียงน้ำท่วมและภัยแล้งเท่านั่น โดยแนะนำว่า เรามีงบประมาณที่ทำถนนต่างๆ น่าจะนำมาจัดรูปที่ดิน ปรับรูปที่ดิน และทำชลประทาน พร้อมกับถนน เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นการเอาจริงเอาจังกับระบบชลประทาน เพราะหากเรามีชลประทาน น้ำแล้งจะไม่เกิด น้ำท่วมก็จะไม่เกิน ซึ่งความจริงเรามีคนเก่งเรื่องน้ำมากมาย แต่ยังไม่มีนโยบายและงบประมาณในการพัฒนาการสร้างเขื่อน หรือชลประทานในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำเข้าไร่นาภาคการเกษตร หากทำแบบนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า เพราะสิ่งที่กลัวมากสุดเป็นเรื่องน้ำท่วม และน้ำแล้ง หากพัฒนาเขื่อน บึง ชลประทานขึ้นมาเพิ่ม รอบบึงก็ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเพิ่มที่อยู่อาศัยมากขึ้นได้อีก

“ทุกวันนี้ทุกๆ อย่างใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่เรื่องพันธุ์พืชที่ก็ต้องใช้เทคโนโลยี ตามด้วยเรื่องปุ๋ย ซึ่งเป็นอาหาร พันธุ์สัตว์ พร้อมด้วยอาหารสัตว์ รถแทร็กเตอร์ที่ต้องเอาเทคโนโลยีมาใส่ รวมถึงโดรน ตอนนี้บริษัทก็ใช้แล้ว ทั้งในไทย จีน และรัสเซีย โดยเกี่ยวกับเรื่องเกษตร เรื่องสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลเหมือนคน ต้องมีสัตวแพทย์ ซึ่งต้องใช้หุ่นยนต์ทั้งนั้น ไม่มีคนมาเกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย ความแม่นยำ เรื่องคุณภาพ ไปจนถึงเรื่องโลจิสติกส์ ค้าปลีกต่างๆ โดยบริษัทเรา คนอาจมองว่าผูกขาด แต่ไม่ใช่ เราเป็นแนวดิ่ง ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะผลิตมากไปก็ขายไม่ได้ ผลิตน้อยไปก็ไม่พอ” นายธนินท์ กล่าว

นายธนินท์ กล่าวว่า นักธุรกิจก็มีหน้าที่เหมือนกัน เราทำธุรกิจหากจะอยู่รอดได้ต้องอาศัยประชาชน หากคนไทยไม่รวยขึ้น จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ซื้อสินค้าและบริการของเรา ผลิตสินค้าออกมาจะขายให้ใคร เป็นหน้าที่ของธุรกิจ แต่ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการผลิตคน และหน้าที่ของรัฐบาลในการออกกฎหมายให้เอื้อกับธุรกิจด้วย เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเรายังไม่ค่อยเอื้อ อาทิ กฎหมายยังปิดช่องไม่ให้คนต่างชาติมาทำธุรกิจบางธุรกิจ แต่เราต้องใช้คนที่มีความสามารถ มีความไฮเทค หากคนไม่มีความรู้จะใช้อย่างไร จะผลิตเทคโนโลยีออกมาได้อย่างไร

ขณะที่ค่าแรง 600 บาท มองว่าไปถึงแน่นอน แต่เราต้องสร้างแรงงานให้เท่าทันกับโลก ประสิทธิภาพยิ่งสูง ทำให้คนเราเก่งขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายมีข้อเสนอแนะ คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยร่ำรวย เพื่อให้คนไทยแข็งแรง ซึ่งต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเป็นหลัก นักธุรกิจจะทำธุรกิจได้ ประชาชนต้องมีรายได้ รัฐบาลต้องออกกฎเอื้อ ประเทศไทยถึงจะอยู่ได้แบบยั่งยืน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.