ผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมือง จี้สภาฯ ผ่านกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ชี้ความสำคัญ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลดความขัดแย้งรัฐและชาวบ้าน
วันที่ 3 ก.พ.2568 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อาวุโสในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะมีการเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 5 ก.พ.นี้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ร่างเข้าสู่การพิจารณาในวาระต่อไป โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งมาจากทุกภาคส่วนพิจารณาเพื่อปรับจาก 5 ร่างที่มีความแตกต่างกันบ้างให้เป็นร่างเดียว
โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา ส่วนอีก 4 ร่างมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-MOVE
เหตุผลของการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้มาจาก มาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริม และให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน
ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย
นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่าประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม จำนวนราว 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 6 ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ
คณะกรรมาธิการวิสามัญใช้เวลาร่วม 7 เดือนในการปรับร่างพระราชบัญญัติจนเสร็จสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือหลักพื้นฐานแห่งสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน
อาทิ สิทธิที่จะได้รับ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องไม่เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิทางวัฒนธรรม, สิทธิในการจัดการศึกษาด้วยภาษาของตนเอง, สิทธิในที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ
กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีกลไกระดับนโยบายหรือระดับชาติ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
จัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจอันดี และเสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
และจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่บัญญัติให้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันที่ 25 ก.ย.2567 ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัตน์ นำผลการพิจารณาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 โดยกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ จะได้รับการคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตอย่างเสมอภาค เราจะเห็นถึงความสำคัญและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมไทยจะโอบรับทุกวัฒนธรรมอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน
แต่มีสส.บางคนตั้งคำถามและคัดค้าน จนต้องถอนออกมาเพื่อปรับปรุง เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2568 มีการพิจารณาผ่านไป 26 มาตรา เมื่อถึงมาตรา 27 เรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังมีสส.บางคนคัดค้านอีก คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องนำมาปรับปรุงอีกครั้ง
ล่าสุดวันที่ 15 ม.ค. ตัวแทนพรรคเพื่อไทย 4 คน ลุกขึ้นอภิปรายในเชิงไม่เห็นด้วย และขอให้เลื่อนพิจารณากฎหมายนื้ โดยข้ออ้างที่ยกขึ้นมาคือโดยกังวลว่ากฎหมายชาติพันธุ์จะไปละเมิดกฎหมายอื่น ๆ ทั้งกฎหมายอุทยานแห่งชาติฯ และกฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทั้งที่ พรบ.ฉบับนี้ให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีภาระหน้าที่ในการช่วยดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาให้เกิดความยั่งยืน และก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ และผ่านคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามกฎหมายนี้อยู่แล้ว จึงเป็นการทำงานร่วมกัน และจะลดความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมของรัฐและชาวบ้านด้วยซ้ำ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเข้าสภาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเข้าสู่การพิจารณามาแล้วหลายครั้ง พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องทำความเข้าใจภายในพรรคและรัฐบาลให้ตรงกัน ในการผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
เพราะนี้เป็นกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญ และเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยตลอดมาที่ระบุว่าสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้