เศรษฐกิจ 2568: ปีแห่งความท้าทายที่อาจกลายเป็นโอกาสทอง
PUM Online February 04, 2025 04:03 PM

ปีนี้คือปีที่ AI ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’ สำหรับธุรกิจไทย ใครก้าวก่อน…ชนะก่อน! Influencers & AI จะเป็นสองพลังหลักขับเคลื่อนตลาด

ผ่านมา 1 เดือนเต็มของปี 2568 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบระยะสั้นดันเทศกาลตรุษจีนคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา MI GROUP ชวนมองปัจจัยต่าง ๆ และคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ที่แม้หลายสำนักจะสะท้อนปัจจัยลบเพียบ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยบวกเข้ามา อาจเป็นปีทองของธุรกิจและผู้ประกอบการ ที่ตั้งรับ และปรับตัวได้ดี

MI GROUP คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ผ่านเม็ดเงินโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาด แม้เผชิญแรงกดดันทั่วโลก แต่ปัจจัยบวกใหม่ ๆ ก็มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาทิ

  • GEN AI ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • อุตสาหกรรมอนาคตอย่างธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ที่มีแผนเข้ามาลงทุนในไทย
  • การท่องเที่ยวภายในและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คึกคักอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้วสูงขึ้น (คาดการณ์ +13% หรือ 40 ล้านคน ใกล้เคียงปี 2562)
  • ไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก
  • ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยโดยเฉพาะ Thai Cultural Content ที่บูมขึ้นและได้รับการตอบรับและสนใจมากขึ้นในตลาดสากล
  • นโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐที่อาจส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนใหม่ในอาเซียนและเอเชีย

ปัจจัยบวก: โอกาสใหม่ที่ช่วยเร่งการเติบโต

1.การพัฒนาของ AI อัจฉริยะ: Agentic AI เปลี่ยนเกมธุรกิจไทย

ปี 2025 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ AI ทั่วโลก โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ยุคของ Agentic AI หรือ AI ที่สามารถเรียนรู้ ปรับตัว และตัดสินใจเองได้ คาดการณ์ว่า AI รูปแบบใหม่นี้ช่วยให้ธุรกิจไทยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเปิดโอกาสใหม่

2.อุตสาหกรรมอนาคตอย่างธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ที่ประกาศแผนลงทุนในประเทศไทย

  • ทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • ปัจจุบันมีโครงการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกว่า 50 โครงการ (ข้อมูลโดย BOI)

3.การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็น Quick Win ฟื้นเศรษฐกิจไทย

  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และ MICE เติบโต
  • นักท่องเที่ยว LGBTQ+ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากนโยบาย
    สมรสเท่าเทียม
  • ไทยเป็น Wedding Destination สำหรับคู่รักจากทั่วโลก

4.ไทยขึ้นแท่น “ศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก” (Global Medical Hub)

  • มาตรฐานการแพทย์ระดับสากล และค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มค่าดึงดูด Medical Tourists และการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพ Wellness & Preventive Healthcare เติบโต
  • สอดรับกับโครงสร้างพลเมืองโลกที่จะมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น

5.Thai Cultural Content ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

  • อาทิ T-Pop และวงการบันเทิงไทยเติบโต, วัฒนธรรมสายวาย (BL) และยูริ (GL) เป็นกระแสระดับโลก, อาหารไทยและแฟชั่นไทยบูมมากในตลาดสากล

6.ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากนโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐที่มีต่อจีน

นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐมีแนวโน้มเข้มงวดกับจีนมากขึ้น

การเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีนของสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติบางส่วนต้องหาทางเลือกใหม่ในการตั้งฐานการผลิต ไทยและอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นเป้าหมายสำคัญของการย้ายฐานการลงทุน

โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบหลายอย่าง เช่น ทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV), แบตเตอรี่, ซัพพลายเชน, เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ

  • ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่แข็งแกร่ง (น้ำ, พลังงานไฟฟ้า, โลจิสติกส์)
  • มีข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ทำให้ต้นทุนการส่งออก
    ต่ำกว่า ล่าสุดไทยได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับ “เอฟตา” หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป
  • นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการผลิตอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย
  • อุตสาหกรรมดิจิทัลและ AI ที่ต้องการเข้าถึงตลาดอาเซียน

7. แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเชิงรุกที่ประกาศออกมา

  • 10 นโยบายเร่งด่วน
  • 8 นโยบายหลักระยะกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ และความท้าทายที่ต้องจับตามอง อาทิ

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในสภาวะซบเซาหรือยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
  • อัตราดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ และยุโรปอาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทย
  • การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว หรือยังฟื้นไม่เต็มที่
  • สินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในการแข่งขัน
  • ความอ่อนแอและเปราะบางของ SMEs ไทยที่ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญในทักษะเพื่อการแข่งขันในโลกยุคใหม่ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีผล แต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นและเห็นผลเป็นรูปธรรม

จากสถานการณ์โดยรวมดังกล่าว MI GROUP คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดปีนี้โต +4.5% อยู่ที่ 92,048 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อดิจิทัล (รวมถึงสื่อโซเชียล) ที่โต +15% โดยเป็นสื่ออันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มูลค่ารวมแตะ 38,938 ล้านบาท, สื่อนอกบ้านโต +10% ส่วนสื่อดั้งเดิมหลักถดถอยต่อเนื่อง (ข้อมูลโดย MI LEARN LAB)

ฟันธงส่วนผสมสื่อในปีนี้จะเป็นดังนี้

สื่อดิจิทัล แตะ 45% ในขณะที่สื่อออฟไลน์ โดยรวม 55% ซึ่ง 3 สื่อหลักนี้ คือ สื่อดิจิทัล, สื่อโทรทัศน์ และ สื่อนอกบ้าน ยังมีคงบทบาทสำคัญที่แตกต่างกันต่อการสื่อสารการตลาดแต่ส่งเสริมกัน โจทย์ยากคือจะวางแผนส่วนผสมสื่ออย่างไรให้ประสิทธิภาพและส่งเสริมกันมากที่สุด

หากมองเจาะไปที่สื่ออันดับ 1 อย่างสื่อดิจิทัล สัดส่วนใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่มีตัวตนในแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ โดยในปีนี้ทาง MI GROUP ประเมินจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในไทยน่าจะแตะเฉียด 3 ล้านราย หรือประมาณ 4.5% ของจำนวนประชากรไทย (เติบโตจากปี 2567 ที่เดิมอยู่ที่ 2 ล้านราย)

โดยการเติบโตหลักมาจาก Micro และ Nano ที่มาในรูปแบบของผู้ใช้จริง (KOC) และพ่อค้า แม่ค้า นักขาย ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่เข้าร่วมทำ Affiliate Marketing กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและแบรนด์ เน้นการสื่อสารการตลาดเพื่อดันยอดขายโดยตรงเป็นหลัก (Lower Funnel Marketing) จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การใช้อินฟลูเอนเซอร์เติบโตสูง ในขณะที่การสื่อสารการตลาดที่มุ่งการรับรู้และการสร้างแบรนด์ (Thematic Ad) ยังคงมีความสำคัญแต่แค่เป็นรอง

กลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าจะใช้งบสื่อสารการตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้:

  • สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ โรงแรม สายการบิน แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันท่องเที่ยว
  • ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และโบรกเกอร์ประกัน
  • วิตามิน อาหารเสริม และยา
  • โฆษณาจากภาครัฐ
  • การขนส่ง เช่น บริการส่งอาหาร ส่งพัสดุ
  • อาหารและสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง
  • สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

กลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าจะใช้งบสื่อสารการตลาดลดลงในปีนี้:

  • E-Marketplace เช่น Shopee, Lazada
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม กาแฟ
  • ร้านอาหาร
  • ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร

ปี 2568 เป็นปีแห่งโอกาสและความท้าทาย ธุรกิจไทยต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งโอกาสจาก AI และดิจิทัล อุตสาหกรรมใหม่ที่เติบโต การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และ Soft Power ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะเดียวกันปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่เข้มข้นยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

ในสภาวะเช่นนี้ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนคือกุญแจสำคัญ MI GROUP เชื่อมั่นว่าธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เข้ามา พร้อมตั้งรับและปรับตัวกับความท้าทายไปด้วยกัน เราขอเชิญพันธมิตร แบรนด์ และผู้ประกอบการ ผนึกกำลัง เดินเกมรุกอย่างปราดเปรียว ตั้งรับอย่างแข็งแกร่ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยพลังของข้อมูลเชิงลึก เทคโนโลยี และกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.