คืบเกือบ 30% โรงกำจัดขยะผลิตพลังงานไฟฟ้า หนองแขม ย้ำความปลอดภัยควบป้องกันฝุ่น PM2.5
GH News February 04, 2025 07:03 PM

วางฐานรากขึ้นโครงสร้างอาคารปล่องควัน โรงกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ภาพรวมคืบหน้าเกือบ 30% ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ 0.51% ย้ำความปลอดภัยควบคู่มาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม บริเวณสถานที่ก่อสร้างโครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม โดยมีนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานความคืบหน้าโครงการ (อ่านข่าว รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำจัดขยะได้วันละพันตัน กำชับคุมกลิ่น อย่ากระทบชาวบ้าน) 

โครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นการก่อสร้างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สิ้นสุดการก่อสร้างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดแผนพัฒนาการกำจัดขยะ โดยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพื่อลดปริมาณการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ ในรูปแบบของโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน โดยขยะมูลฝอยจะถูกจัดเก็บและนำมาเทในบ่อรับขยะภายในอาคารระบบปิด 3-5 วัน เพื่อให้ความชื้นลดลง 35%

จากนั้นจะใช้เครนคีบขยะเข้าสู่เตาเผาแบบตะกรับ หรือ Stoker Type ควบคุมความร้อนให้คงที่ประมาณ 850-1,100 องศาเซลเซียส โดยนำความร้อนไปต้มน้ำให้เกิดเป็นไอน้ำแรงดันสูงผ่านตัวขับเคลื่อน (Turbine) เปลี่ยนพลังงานกลให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ โดยบริษัทผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุน

รวมถึงการบริหารโครงการตั้งแต่เริ่มออกแบบ ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมติดตั้งเครื่องจักร และเดินระบบกำจัดมูลฝอยเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปฝังกลบในจังหวัดใกล้เคียง ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้างานสะสมตามแผน 30.15% ความคืบหน้างานสะสมที่ทำได้จริง 29.64% ประกอบด้วย งานพื้น งานเสา และคานอาคารเสาหลัก งานโครงสร้างปล่องควัน งานฐานรากอาคารและงานพื้นบ่อบำบัดชีวภาพ งานฐานราก และงานพื้นอาคารปั๊มน้ำหมุนเวียน งานพื้นอาคารบ่อปรับสภาพน้ำ งานโครงสร้างอาคารหล่อเย็น งานโครงสร้างถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้ออกซิเจน งานโครงสร้างอาคารภายนอก งานติดตั้งสายส่งและเชื่อมต่อระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) งานวางท่อน้ำประปาและติดตั้งมิเตอร์

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมติดตามโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าในการก่อสร้าง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานให้ทราบเป็นระยะ เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาที่กำหนดไว้ปลายปี 2569 ซึ่งบริษัทผู้รับจ้างได้รายงานผลการดำเนินงานในภาพรวม โครงการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ 0.51% เกี่ยวเนื่องมาจากการแก้ปัญหาสภาพชั้นดิน ปัจจุบันบริษัทผู้รับจ้างได้เร่งรัดงานและเพิ่มกำลังคนเพื่อให้งานกลับมาทันตามแผน

นอกจากนี้ได้กำชับบริษัทผู้รับจ้างให้คำถึงมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อยู่ในความมั่นคงแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศและจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ เพื่อร่วมกันควบคุมมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.