รายงานพิเศษ - จัดถกใหญ่ธรรมะ-ธรรมเอเชีย สถาบันโพธิคยาฯ-มหาจุฬาฯ
ข่าวสด February 04, 2025 07:23 PM

องค์กร Vivekananda International Foundation India (VIF) ร่วมกับ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980, ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, International Buddhist Confederation (BC), Japan Foundation-Japan (TBC) และมูลนิธิวีระภุชงค์ แถลงข่าวการจัดประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ศตวรรษแห่งเอเชียของธรรมะ-ธรรม” ที่ห้องประชุมชั้น 7 บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ต.บางเขน นนทบุรี

รายงานพิเศษ

โดยเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในระดับสากล และความยั่งยืนที่เกิดจากการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันคลังปัญญา-Think Tank ชั้นนำของอินเดียและไทย

นายสุภชัย เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า การทำงานร่วมกับสถาบันคลังของอินเดีย โดยเฉพาะ VIF เกิดขึ้นระหว่างงานธรรมยาตราครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย การประกาศศตวรรษแห่งธรรมได้รับฉันทานุมัติจากรัฐบาลอินเดีย และสถาบันคลังปัญญาหลายแห่ง โดยศตวรรษแห่งธรรมมิได้จำกัดอยู่เพียงหลักธรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึงหลักธรรมของทุกศาสนาในโลก ซึ่งต่างก็มีหลักธรรมร่วมกัน โดยเฉพาะหลักมนุษยธรรม ส่งเสริมการสร้างสันติภาพ การแก้ไขวิกฤตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ทั้งด้านการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำโลกในศตวรรษใหม่ไปสู่ความปรองดอง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

รายงานพิเศษ

ด้าน นายนาเกซ ซิงค์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานของ Vivekanada International Foundation (VIF) ในฐานะ Think Tank หรือสถาบันคลังปัญญาระดับแนวหน้าของอินเดีย มีการกิจและบทบาทสำคัญ คือการวิจัยและนโยบายสนับสนุนรัฐบาลอินเดียในด้านความมั่นคงระดับชาติ การจัดเสวนา การจัดประชุมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ และการแพร่ความรู้ด้านการป้องกันประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายนาเกซกล่าวอีกว่า หลักธรรมะสำหรับเรานั้น ไม่ได้ขึ้นตรงกับเพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นวิธีทางในการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติและการปฏิบัติต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมนุษยชาติ กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเกี่ยวกับการที่เราจะอยู่กับสัตว์โลกกันอย่างสันติสุขได้อย่างไรบนโลกใบนี้ด้วย

“เวทีนี้จะเป็นการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน และทำให้โลกนี้มันดีขึ้น โดยเฉพาะการที่จะจัดการประชุม SAMVAD ครั้งนี้ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ในการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างสงบสุข มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา รวมถึงการสร้างความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9” นายนาเกซเผย

รายงานพิเศษ

พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี) ประธานกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีหลากหลายประเทศ ทั้งที่นับถือพุทธศาสนา และไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเข้าร่วมประชุม ฉะนั้นการประชุม SAMVAD ถือว่าเป็นคำที่มีความหมายในเชิงของการสร้างสรรค์บนเวทีเพื่อการพูดคุย ตามจริงแล้วจะไม่อยากจะเน้นย้ำในหลักพุทธศาสนาอย่างเดียว ด้วยว่าเพื่อนพี่น้องในโลกนี้ก็มีหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ที่มีหลากหลายความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณี แต่เราพูดถึงธรรมะ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้นิยามความหมายของธรรมะไว้มากมายหลายประการ เพื่อนำไปใช้ให้มากมายและหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการมีความหมายที่หลากหลายเหมาะกับการนำไปใช้อย่างเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ งานประชุม SAMVAD มีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 14-17 ก.พ.2568 โดยการจัดงานวันแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ชั้น G อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

งานประชุมวันที่สอง จัดขึ้นในวันที่ 15 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา

งานวันประชุมวันที่สาม จัดขึ้นในวันที่ 16-17 ก.พ. โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งอารยธรรมศักดิ์สิทธิ์ดินแดนแห่งนาคา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมยุคโบราณระหว่างอินเดียใต้ สุวรรณภูมิ จีน ไกลออกไปถึงกรีก-โรมันยุคโบราณ เป็นต้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.