ผู้ส่งออกข้าว มึนตั้งรับไม่ทัน เจอทั้งสงครามราคา ทิ้งสัญญา สต๊อกบวม ฉุดราคาร่วง 50-60 เหรียญสหรัฐ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย มติชน ถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยเข้าเดือนกุมภาพันธ์ว่า ขณะนี้ตลาดค้าข้าวโลกปั่นป่วนอย่างหนัก คำสั่งซื้อใหม่หยุดชะงัก ประกอบกับปริมาณข้าวทั่วโลกยังอยู่ในปริมาณที่สูง ส่งผลต่อราคาข้าวทั่วโลกลดฮวบอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบการค้าปกติเริ่มเจอปัญหา ทั้งจากประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศชะลอส่งมอบข้าวในสัญญาเดิม หลายบริษัทเริ่มเห็นการทิ้งสัญญาที่ตกลงไว้เดิมตั้งแต่ปลายปี 2567 เพราะราคาข้าวที่ได้ตกลงกันไว้ช่วงซื้อขายปลายปี2567 ถึงต้นปี 2568 สูงกว่าราคาข้าวในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ค่อนข้างมาก
“ที่น่าวิตกคือ ราคาข้าวไทย กลับมาสูงกว่าประเทศคู่แข่งค้าข้าวของโลกในเกือบทุกชนิด และราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง 50-60 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว อย่างข้าวขาว 5% ราคาส่งออกของไทยเฉลี่ย 430-440 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาข้าวส่งออกเวียดนามต่ำกว่า 390 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว และราคาเวียดนามต่ำกว่าอินเดียแล้วด้วย”
นายชูเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวร่วงรุนแรงและกำลังป่วนระบบการค้าข้าวโลก จากเหตุการณ์สำคัญ คือ ประเทศนำเข้าอย่างอินโดนีเซีย หยุดการซื้อข้าว หลังจากราคาข้าวร่วงต่ำลงกว่าที่เจรจาซื้อไว้เกือบตันละ 100 เหรียญสหรัฐ จึงปรับเงื่อนไขสัญญาโดยกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 31 มกราคมที่ผ่านมา ถ้าไม่ทันขอยกเลิกสัญญา แตกต่างจากปกติจะเป็นการให้ชะลอส่งมอบและเจรจาราคากันใหม่ ซึ่งมีผู้นำเข้าไม่สามารถรับมอบได้ทันเวลา จึงถูกยกเลิก และสร้างความเสียหายให้กับผู้ส่งออกไทย บางรายค้างส่งกว่า 1 แสนตัน
อีกประเทศนำเข้าสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการเช็คสต็อกผู้นำเข้าทั้งหมด ทั้งปริมาณและราคาขายในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าปีที่ผ่านมาปล่อยให้ผู้นำเข้าข้าวในปริมาณที่มากต่อเนื่อง และน่าจะมีสต๊อกที่สูง แต่ราคาขายในประเทศยังไม่ลดลง จึงสั่งชะลอนำเข้าก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ฟิลิปปินส์ นำเข้าข้าวจากเวียดนาม เมื่อหยุดการซื้อเพิ่ม ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามดิ่งรวดเร็ว ส่งผลต่อราคาข้าว5% ต่ำกว่าไทยแล้ว 50-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน เชื่อว่าราคาต่ำมากๆอาจเจอเบี้ยวสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้เวียดนามมีสต๊อกข้าวเพื่อระบายสูงมาก ก็จะเทขายออกมา ก่อนที่ผลผลิตข้าวรอบใหม่ของเวียดนามจะออกตลาดอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้ ใกล้เคียงกับผลผลิตข้าวนาปรังรอบแรกของไทยก็จะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน
“เดือนมีนาคมนี้ น่าจะชุลมุนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะข้าวขาวเข้า ส่วนข้าวหอมมะลิยังไปได้ เราเจอทั้งสต๊อกเดิมค้างรอระบาย และผลผลิตข้าวรอบใหม่ออกตลาด อินเดียก็เร่งระบาย กำลังเจรจาขายให้กับมาเลเซีย ที่ก่อนหน้านี้ซื้อจากเวียดนามมาก เราประเมินว่าการค้าข้าวและการส่งออกข้าวไทยที่คาดการณ์ปีนี้หวังส่งออกไว้ 7.5 ล้านตัน จะพลาดเป้าแค่ไหน น่าจะชัดเจนในเดือนเมษายน พร้อมกับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาอีกครั้ง เพื่อเป็นสต๊อกกลางปีของหลายประเทศ สมาคมฯจะทบทวนตัวเลขแค่ไหน ขอให้ผ่านไตรมาสแรกปีนี้ไปก่อน ยอมรับว่าปีนี้ได้เห็นของจริงกับตัวเลขส่งออกข้าวไทยที่ทำได้จริงในแต่ละปี ไม่เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ได้ตัวเลขจากภัยแล้งและรัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกข้าว แต่ปีนี้ไม่มีปัจจัยอานิสงส์นั้น จะเป็นปีที่เหนื่อยซ้อนเหนื่อยก็ว่าได้” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ส่วนกรณีนโยบายทรัมป์ 2.0 การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้านั้น ข้าวเป็นกลุ่มฟูดส์จึงไม่ถูกเก็บภาษี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตหรือไม่ เป็นประเด็นต้องติดตาม อย่างไรก็ตาม ความกังวลของผู้ส่งออก คือ สงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 มีผลแน่นอนทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เรากังวลจากนี้ คือ อียู เพิ่มกฎระเบียบ เช่น หันซื้อและนำเข้าข้าวที่มีขบวนการปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่ตื่นตัวและส่งเสริมเหมือนประเทศเพื่อนบ้านทำกันแล้ว และเป็นทางรอดข้าวไทยในอนาคต ส่วนระยะสั้นรัฐต้องดูแลเรื่องค่าบาทไม่ให้แข็งค่าและผันผวน ที่เหมาะสมตอนนี้ควรอยู่ที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะบาทอ่อนจะแข่งขันราคาส่งออกได้ดีขึ้น อีกเรื่องคือรัฐต้องช่วยลดต้นทุนผลิตต่อไร่ พร้อมกับเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นการเพิ่มปริมาณและอำนาจต่อรองในระยะยาว